ปธ.สภาฯ พร้อมรับลูกสอบกดบัตรแสดงตนแทนกัน ชี้เสียบบัตรทิ้งไว้เรื่องปกติ ติดตลกแต่คงไม่มีแมลงวันหรือตัวอะไรไปกดให้ แนะ “ขจิตร” ร้องมา ระบุซื้อตัวเรื่องบุคคล ขออย่าเหมารวมสภา ไม่ขัด “ปิยบุตร” ขอแก้ข้อบังคับประชุม
วันนี้ (6 ธ.ค.) นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ต่อประเด็นที่มีข้อสงสัยต่อการกดบัตรแสดงตนแทนกัน หลังจากที่นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ระบุถึงการเสียบบัตรแสดงตนทิ้งไว้ในห้องประชุม ระหว่างการนับคะแนนใหม่ในญัตติขอให้สภาฯ ตั้ง กมธ.วิสามัญ ศึกษาผลกระทบจากการกระทำประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 ทั้งที่ช่วงดังกล่าวส.ส.พรรคฝ่ายค้านเกือบทั้งหมด วอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุมว่า หากมีผู้ร้องเข้ามาตนพร้อมจะตรวจสอบให้ ทั้งนี้ การเสียบบัตรทิ้งไว้บริเวณที่นั่งของ ส.ส.นั้นเป็นเรื่องปกติและทำได้ ตนเคยเสียบบัตรทิ้งไว้บริเวณที่นั่งเช่นกัน เพราะ ส.ส.มีที่นั่งประจำ เมื่อมีการแสดงตนหรือลงคะแนนต้องกดบัตรในที่นั่งบริเวณเดิม โดยไม่มีใครกดบัตรแล้วดึงบัตรออกมาเก็บไว้ ยกเว้นจะเปลี่ยนที่นั่ง
“กรณีนี้หากคุณขจิตร หรือใครที่ได้รับผลกระทบว่ามีคนขโมยบัตรเพื่อไปออกเสียงหรือแสดงตน ถือว่าเป็นผู้ที่เดือดร้อนและสามารถส่งเรื่องให้ผมตรวจสอบได้ อย่างไรก็ตาม การเสียบบัตรคาไว้ถือเป็นเรื่องปกติ แต่การลงคะแนนหรือกดบัตรแสดงตนแทนกัน ผมเข้าใจว่าคงไม่มีแมลงหรือตัวอะไรที่กดปุ่มให้ได้ เรื่องนี้อย่าใช้คำว่าสมมติ ขอให้เจ้าตัวทำเรื่องเข้ามา ทั้งนี้ สิ่งที่ก่อนหน้านี้คุณขจิตรระบุไปอาจจะไม่ใช่ ดังนั้นหากมีเรื่องร้องต้องตรวจสอบ” นายชวนกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีที่มีกระแสข่าวการซื้อตัว ส.ส.เพื่อแลกกับเสียงลงมติจะกระทบภาพลักษณ์ของสภาหรือไม่ ประธานสภาผู้แทนฯ กล่าวว่า ตนไม่ทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แต่กรณีดังกล่าวขอให้แยกเรื่องตัวบุคคลออกจากภาพของสภา เนื่องจากยอมรับว่าในแวดวงต่างๆ เช่น ข้าราชการ, นักการเมือง, สื่อมวลชน หรือนักธุรกิจย่อมมีทั้งคนดีและคนไม่ดี ดังนั้นต้องแยกออกจากกันและอย่าเหมารวม
นายชวนยังกล่าวถึงกรณีที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เตรียมเสนอร่างแก้ไขข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนฯ หลังจากที่การประชุมครั้งที่ผ่านมาพบปัญหาในการวินิจฉัยเนื้อหา โดยเฉพาะ ข้อ 85 ว่าด้วยการนับคะแนนใหม่ ว่าเรื่องดังกล่าวสามารถเสนอได้ และที่ผ่านมาตนเคยย้ำกับ ส.ส. และผู้ที่ยกร่างข้อบังคับการประชุมแล้วว่าหากจะแก้ไขต้องแก้ไขให้มากกว่าเดิมไม่ใช่แก้ไขเฉพาะประเด็นใดประเด็นหนึ่งเท่านั้น อีกทั้งเข้าใจว่าการยกร่างข้อบังคับการประชุมสภาฯ โดยคณะยกร่างนั้นอาจมีเหตุผลที่เขียนเนื้อหาในลักษณะดังกล่าว เช่น กรณีขอกระทู้ หรือญัตติ กรณีของการขยายเวลาอภิปราย ที่ต้องพิจารณาประเด็นที่เป็นผลกระทบกับประชาชนวงกว้าง มากกว่ากระทบเฉพาะบุคคลหรือเฉพาะหมู่บ้านใดหมู่บ้านหนึ่งเท่านั้น เป็นต้น