xs
xsm
sm
md
lg

ลุงป้อม-ลุงตู่ ขำๆ "วิ่งไล่ลุง" หรือจะ" วิ่งตามลุง" ท้า วิ่งให้ทันก็แล้วกัน” **คุก 4 ปีคดีแกนนำ นปช. คุมม็อบบุกล้มการประชุมอาเซียนซัมมิต ที่พัทยา **"ปริญญา เทวานฤมิตรกุล" ฟันธงมติเลื่อน "แบนสารพิษ" ไม่ชอบด้วยกฎหมาย!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ข่าวปนคน คนปนข่าว



**ลุงป้อม-ลุงตู่ ขำๆ "วิ่งไล่ลุง" หรือจะ" วิ่งตามลุง" ท้า วิ่งให้ทันก็แล้วกัน”คนจัดงานกลับหงายเงิบ เมื่อ"กูลิโกะ" ขนมดังไม่ขำด้วย

ฮอตฮิตอยู่ในหมู่ฝ่าย"ชังลุง" อีเวนต์ที่เหมือนจะเอาขำแกมประชดชื่อ "วิ่งไล่ลุง" ซึ่งโปรโมตผ่านเฟซบุ๊ก "ธนวัฒน์ วงค์ไชย" ประธานยุทธศาสตร์ สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) และ อดีตประธานสภานิสิตจุฬาฯ ผู้ประสานจัดงานมาได้สักพัก โดยอธิบายถึงคำว่า"ลุง" ในกิจกรรม "วิ่ง ไล่ ลุง" ว่า.. " มีหลายคนถามว่างาน #วิ่งไล่ลุง ในวันที่ 12 มกราคม 2563 วิ่งไล่ใคร แล้วไล่อะไร บอลเลยขออธิบายครับว่า ลุง หมายถึง สิ่งที่ทำให้ประเทศตกต่ำ ย่ำแย่ ถดถอย และล้าหลัง ดังนั้นการออกไปวิ่งไล่ลุง คือการขับไล่สิ่งที่เป็นภาระ ตัวถ่วง และฉุดความเจริญของประเทศครับ"

วันนี้กระแสมาถึงหู ลุงๆ “ลุงป้อม”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ยังไม่คอยจะเชื่อวาจะมีใครลุกขึ้นมาวิ่งไล่ เลยให้สัมภาษณ์ว่า ไม่มีหรอก ใครจะทำ ต้องไปดูว่าผิดหรือเปล่า หากไม่ผิดก็ทำได้ และต้องไปดูด้วยว่า เข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะหรือไม่ ซึ่งก็ต้องไปดูกฎหมาย

ถามว่า เมื่อมี วิ่งไล่ลุง หากมีคนจัดอีเวนต์ "วิ่งตามลุง" บ้างล่ะ "ลุงป้อม" จะไปร่วมวิ่งงานไหน พล.อ.ประวิตร กล่าวติดตลกว่า "จะไปร่วมวิ่งได้ยังไง เพราะเดินยังไม่ไหวเลย"

ส่วน"ลุงตู่" เจอคำถามเดียวกัน ก็ตอบสั้นว่า "วิ่งไล่ลุงให้ทันก็แล้วกัน"

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ว่ากันไป ช่วงนี้ทั้งสองลุง ดูจะอารมณ์ดี มีความสุข นอกจากไม่ซีเรียสกับกระแส"วิ่งไล่ลุง"อย่างว่า เวลาเจอกัน อยู่ด้วยกัน ก็มีหยอกเอินกันออกสื่อ...

อย่างที่เรียกเสียงหัวเราะเฮฮากันในกลุ่มนักข่าวที่กำลังล้อมวงสัมภาษณ์ "ลุงป้อม" อยู่หน้าบันได ตึกบัญชาการ1 จู่ๆ "ลุงตู่" ก็เดินลงมาแทรกวงสัมภาษณ์ของนักข่าว เข้ามาหยอกลุงป้อม ด้วยการ "แย่งไมค์" ของนักข่าวมาทำท่าสัมภาษณ์ พล.อ.ประวิตร..."ผมขอถามบ้าง?" ก่อนที่จะเดินออกจากวง และทิ้งคำพูดไว้ย้ำความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้องที่เหนียวแน่น "นี่ พี่ผม" ไปถาม พี่ผมโน่น !

"สองลุง" เล่นกันขำๆ อำกันเองแต่คนที่ขำไม่ออกกลับเป็นคณะจัดแคมเปญ "วิ่งไล่ลุง" เพราะงานเข้า ที่ไปเอาภาพคล้ายโลโก้ของผลิตภัณฑ์ขนมชื่อดัง "กูลิโกะ" มาทำโปสเตอร์โปรโมต

บริษัท ไทยกูลิโกะ จำกัด และบริษัท กูลิโกะ โฟรเซ่น (ประเทศไทย) จำกัด ได้แถลงผ่านเฟซบุ๊ก Glico TH โดยระบุว่า ตามที่ได้มีผู้นำเครื่องหมายการค้า หรือโลโก้ ที่กลุ่มบริษัท กูลิโกะ ใช้ในการประกอบธุรกิจ ไปดัดแปลงเพื่อใช้สำหรับกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความสับสน และเข้าใจผิดว่า "กลุ่มบริษัทกูลิโกะ" ได้ให้การสนับสนุน หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมืองนั้น บริษัท ไทยกูลิโกะ จำกัด และบริษัท กูลิโกะ โฟรเซ่น (ประเทศไทย) จำกัด ขอชี้แจงว่า บริษัทฯไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มใดๆ ทั้งสิ้น ขอย้ำว่า บริษัทฯมีนโยบายเป็นกลางทางการเมือง และไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองทุกรูปแบบ...


จึงใคร่ขอความร่วมมือให้งดเว้นการนำเครื่องหมายการค้า หรือโลโก้ ของ"กลุ่มบริษัท กูลิโกะ" ไปดัดแปลงเพื่อนำไปใช้สำหรับกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง...

ขณะที่คณะจัดงาน "วิ่ง ไล่ ลุง" และ "ธนวัฒน์ วงค์ไชย" ในฐานะผู้ประสานงาน จัดงานดังกล่าว ได้โพสต์ผ่านเฟชบุ๊ก โร่ขอโทษ กราบขออภัย ทางบริษัท กูลิโกะ ประเทศไทย (Pocky TH)และบริษัทต้นสังกัด จากทางประเทศญี่ปุ่น ที่ปล่อยใหัเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น โดยจะเปลี่ยนอาร์ตเวิร์ก พีอาร์งานใหม่

"วิ่งไล่ลุง" ของพลพรรคไม่รักลุงงานนี้ไม่ถึงกลับล่ม แต่จะวิ่งไปได้ไกลแค่ไหน คงต้องติดตามกันต่อไป .

** ปิดฉากคดีแกนนำ นปช. คุมม็อบบุกล้มการประชุมอาเซียนซัมมิต ที่พัทยา ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา "กี้ร์ อริสมันต์" เผ่นไปแล้ว ส่วน "พ.ต.ท.ไวพจน์" ที่แม้จะเป็น ส.ส. แต่ก็ไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มครองแล้ว !!

คดีนปช.บุกล้มประชุมอาเซียน เกิดขึ้นเมื่อเดือนเม.ย.ปี 52 ซึ่งเป็นช่วงที่กลุ่มนปช. ชุมนุมทางการเมืองเพื่อขับไล่"รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" และในช่วงเวลานั้นประเทศไทย ได้เป็นเจ้าภาพการประชุมอาเซียนซัมมิต ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมรอยัลคลิฟ เมืองพัทยา จ.ชลบุรี แกนนำ นปช.ส่วนหนึ่ง ได้นำกลุ่มคนเสื้อแดง บุกเข้าไปภายในโรงแรมเพื่อล้มการประชุมดังกล่าว ทำให้ผู้นำชาติต่างๆที่เข้าร่วมประชุม รวมทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องหนีออกมาอย่างทุลักทุเล ... เป็นข่าวดังไปทั่วโลก

ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดพัทยา ได้ยื่นฟ้องแกนนำนปช. ประกอบด้วย นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง, นายนพพร นามเชียงใต้, พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์, นายสมญศฆ์ พรมภา, นายนิสิต สินธุไพร, นายสำเริง ประจำเรือ, นายศักดา นพสิทธิ์, นายสิงห์ทอง บัวชุม, นายธนกฤต หรือ วันชนะ ชะเอมน้อย หรือ เกิดดี , นายวรชัย เหมะ, นายพายัพ ปั้นเกตุ, นายวัลลภ ยังตรง , นายพิเชฐ สุขจินดาทอง , พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ และ นายสุรชัย แซ่ด่าน

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้จำคุกจำเลยทั้ง 12 คน เป็นเวลา 4 ปีโดยไม่รอลงอาญา ยกฟ้อง 1 คน และพักคดี พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ และนายสุรชัย แซ่ด่าน เนื่องจากหลบหนี...ในชั้นอุทธรณ์ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

ต่อมาศาลฎีกา นัดอ่านคำพิพากษาคดีนี้ เมื่อ 11 ก.ย. 62 ปรากฏว่าจำเลยมาศาลเพียงคนเดียว คือนายศักดา นพสิทธิ์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อชาติ ขณะที่บางคนขอเลื่อน บางคนก็มีข่าวว่าได้หลบหนีไปแล้ว ศาลฯ จึงได้อ่านคำพิพากษาของนายศักดา โดยยังคงจำคุก 4 ปีโดยไม่รอลงอาญา...และศาล ได้นัดให้จำเลยที่เหลือมาฟังคำพิพากษาอีกครั้ง ในวันที่ 31 ต.ค.62

อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง - พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ - วรชัย เหมมะ
เมื่อถึงกำหนด 31 ต.ค. 62 ได้มีจำเลย 3 คนคือ พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ , นายสำเริง ประจำเรือ และ นายวรชัย เหมมะ ได้เดินทางมาศาล เพื่อยื่นคำร้องต่อศาล ขอถอนคำให้การเดิมจาก"ปฏิเสธ" มาเป็น"รับสารภาพ" พร้อมคำร้องประกอบขอให้ศาลเมตตา ลงโทษสถานเบา ศาลจึงได้กำหนดให้มารับฟังคำพิพากษาใหม่ ในวันที่ 3 ธ.ค.62

และเมื่อวานนี้ (3ธ.ค.) มีเพียง นายสำเริง ประจำเรือ และนายวรชัย เหมมะ เท่านั้น ที่เดินทางมาฟังคำพิพากษา... ส่วน "พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์" ซึ่งเป็น ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ได้ส่งทนาย มาขอเลื่อนการฟังคำพิพากษา โดยอ้างว่าติดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากอยู่ในช่วงสมัยการประชุมสภาฯ ศาลจึงอ่านคำพิพากษาเฉพาะของ นายวรชัย และนายสำเริง

โดยก่อนอ่านคำพิพากษา ศาลได้ชี้แจงถึง กรณีที่จำเลยทั้ง 3 คน ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอถอนคำให้การจาก ปฏิเสธ เป็น รับสารภาพ นั้น ศาลได้ยกคำร้อง ด้วยเหตุว่า...การยื่นแก้ไขคำให้การเดิม จะต้องยื่นก่อนที่ศาลชั้นต้นจะตัดสิน เมื่อมายื่นเอาในชั้นศาลฎีกาแล้ว จึงไม่มีเหตุให้รับคำ ร้องดังกล่าว ...จากนั้นก็อ่านคำพิพากษาให้จำคุกจำเลย เป็นเวลา 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา …เป็นอันว่า เกมไปอีก 2 คน

ส่วนกรณีของ "พ.ต.ท.ไวพจน์" ที่ขอเลื่อนฟังคำพิพากษานั้น ศาลชี้ว่าไม่มีเหตุ และถึงแม้จะเป็นสมัยการประชุมสภาฯ แต่ไม่ใช่ข้ออ้างในการพิจารณาคดี แต่ถือเป็นการฟังคำสั่งศาล จึงได้ยกคำร้อง พร้อมออกหมายจับ ให้มารับฟังคำพิพากษาอีกครั้ง ในวันที่ 15 ม.ค.63

หลังจากศาลออกหมายจับแล้ว สถานภาพส.ส.ของ"พ.ต.ท.ไวพจน์"จะเป็นอย่างไรนั้น "สรศักดิ์ เพียรเวช" เลขาธิการสภาฯ ชี้แจงว่า เมื่อศาลยังไม่อ่านคำพิพากษา แต่ออกหมายจับ ถือว่า "พ.ต.ท.ไวพจน์" ยังมีสถานภาพ ส.ส.อยู่ แต่จะไม่ได้รับเอกสิทธิ์ ส.ส.คุ้มครอง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 ที่ห้ามจับกุม คุมขัง ส.ส. ระหว่างสมัยประชุมสภาฯ เพราะความหมาย มาตรา 125 หมายถึง ห้ามจับกุม คุมขังระหว่างกระบวนการพิจารณาคดี ...แต่ขณะนี้ถือว่ากระบวนการพิจารณาคดีสิ้นสุดแล้ว เหลือแค่อ่านคำพิพากษาเท่านั้น ... จึงไม่ได้เอกสิทธิ์คุ้มครอง หากตำรวจพบตัวที่ใด ก็จับได้เลย ไม่จำเป็นต้องเป็นที่สภาฯ…

ดังนั้น คงต้องจับตาว่า "พ.ต.ท.ไวพจน์" จะยังคงรักษาสถานภาพ ส.ส. ไปจนถึงวันที่ 15ม.ค.63 ได้หรือไม่ ...ส่วน "กี้ร์" อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง แกนนำคนสำคัญที่พาม็อบไปล้มการประชุมอาเซียนนั้น ...เผ่นไปตั้งนานแล้ว !!

**คดีพลิกมั้ย? "ปริญญา เทวานฤมิตรกุล" ฟันธงฉับ มติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเลื่อน "แบนสารพิษ" ไม่ชอบด้วยกฎหมาย!!

จากที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายแถลงว่า มีมติเป็นเอกฉันท์ เมื่อวันที่ 27 พ.ย.62 ให้เลื่อนการแบน 3 สารพิษทางการเกษตร ออกไป 6 เดือน และ รศ.จิราภรณ์ ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม ในฐานะประธานผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ หนึ่งในคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้ขอลาออกจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย เนื่องจากรับไม่ได้ ที่อยู่ในภาวะจำยอมรับมติยืดเวลาแบนสารเคมีเกษตร ไม่ได้ลงมติอย่างชัดเจน และยืนยันขอให้คงมติ วันที่ 22 ต.ค.62 คือการแบนทั้ง 3 สาร ไกลโฟเซต พาราควอต คลอร์ไพริฟอส นั้น

มติและการลาออกของ รศ.จิราภรณ์ ดังกล่าว ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันหนาหูว่างานนี้เป็นผลมาจากการล็อบบี้กันฝุ่นตลบ ด้วยผลประโยชน์ของบริษัททุนข้ามชาติ ที่เบ่งบารมีมากล้นโดยไม่สนใจผลกระทบที่จะมีต่อชีวิตของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน...

ที่สำคัญ มติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่เลื่อนการแบน 3 สารพิษ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ?

เรื่องนี้"ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล" อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ได้ออกมาให้ความเห็นทางกฎหมายผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า เมื่อไม่มีการให้กรรมการลงมติ จะถือว่าเป็นมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ชอบด้วยกฎหมายได้หรือไม่? ในฐานะที่เป็นอาจารย์ที่สอนวิชากฎหมายมหาชนเบื้องต้น ที่สอนเรื่องการลงมติมาทุกเทอม จึงขอเอากรณีนี้มาให้สาธารณชนได้พิจารณา และเป็นกรณีศึกษา ให้นักศึกษากฎหมายมหาชนได้เรียนรู้กัน... ทั้งนี้ จะไม่กล่าวถึงว่าควรเลื่อนการแบน 3 สารพิษหรือไม่ โดยจะวินิจฉัยในทางกฎหมายเท่านั้น ดังต่อไปนี้

ข้อกฎหมาย : เรื่องนี้ ต้องเริ่มด้วยการพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ซึ่ง มาตรา 12 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า

"การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่ง เป็นเสียงชี้ขาด .."

นั่นหมายความว่า จะเรียกว่าเป็นการลงมติได้จะต้องให้กรรมการแต่ละคนได้ออกเสียงในแต่ละประเด็น โดยให้กรรมการคนหนึ่งมีหนึ่งเสียง ทั้งนี้ มติที่ใช้คือเสียงข้างมาก ซึ่งหมายถึงเสียงข้างมากของผู้เข้าประชุม

และเมื่อต้องมีการออกเสียง ก็ต้องมีการตรวจสอบองค์ประชุมก่อนด้วย ซึ่งพ.ร.บ.วัตถุอันตราย มาตรา 12 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า...

"การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม"

ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
ข้อเท็จจริง : ตามข้อเท็จจริงจาก "รศ.จิราภรณ์" การประชุมครั้งนี้ไม่ได้มีการให้กรรมการแต่ละคนได้ลงมติหนึ่งคนหนึ่งเสียงแต่ประการใด ซึ่งสอดคล้องกับที่ "นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ" ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ คือ ตนเองสันนิษฐานเอา ทั้งไม่ปรากฏว่ามีการตรวจสอบองค์ประชุมว่ามีสมาชิกมาประชุมอย่างน้อยกึ่งหนึ่งแล้วหรือไม่

มตินี้จึงมิใช่มติที่ดำเนินการถูกต้องตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย !

บรรทัดฐานของศาล : แม้จะมีหลักฐานการเซ็นชื่อเข้าประชุมว่ามีกรรมการมาประชุมตอนเริ่มประชุมครบองค์ประชุม แต่เรื่องนี้ทั้งศาลรัฐธรรมนูญ (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3/2551) และศาลฎีกา (คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 3623/2527) ได้เคยวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้แล้วว่า องค์ประชุมต้องครบตลอดเวลาไปถึงตอนลงมติ จึงต้องนับองค์ประชุมตอนลงมติว่าครบหรือไม่ โดยนับจากคะแนนเสียงทั้งหมดที่ออกเสียง แต่เมื่อไม่มีการให้กรรมการลงมติ จึงไม่อาจทราบได้เลยว่า องค์ประชุมตอนลงมติครบองค์ประชุมหรือไม่...

สรุป : ดังนั้น เมื่อไม่มีการนับองค์ประชุมตอนลงมติ และไม่มีการให้กรรมการแต่ละคนออกเสียงในเรื่องที่ขอมติ จึงสรุปได้ว่า มติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่เลื่อนการแบนสามสารพิษ "จึงไม่ใช่มติที่ชอบด้วยกฎหมาย" หรือพูดอีกอย่างได้ว่า เท่ากับยังไม่มีมติใหม่" อาจารย์ชื่อดังทิ้งท้าย และ ฟันธงฉับ

ทว่า ฟากของ"สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ" รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย ยืนยันอีกครั้งว่า "ที่ประชุมมีมติ" คนที่ออกมากล่าวว่าที่ประชุมไม่มีมตินั้น ไปเอาข้อมูลมาจากที่ใด หลังจากนี้จะให้เจ้าหน้าที่ถอดเทปในที่ประชุม พร้อมย้ำว่ารายละเอียดในการประชุมมีคณะกรรมการ 3 คน เสนอให้เลื่อนออกไป 3 เดือน บางคนไม่ให้แบน และให้ใช้ได้ต่อไป ซึ่งหลังเสร็จสิ้นการเสนอแนะของกรรมการ จึงแจ้งต่อที่ประชุมให้ช่วยกันไปร่างมติที่เห็นสมควรว่าจะให้เป็นอย่างไร โดยมีการปรับแก้จนให้พอใจกันทุกฝ่าย จึงมีข้อสรุป"ให้เลื่อนการแบนสารพิษออกไปอีก 6 เดือน"... แต่ยังไม่ได้ระบุว่า ครบกำหนด 6 เดือนจะเป็นวันที่เท่าใด

หลังจากนี้กรมวิชาการเกษตร จะไปหาสารทดแทนมาภายในระยะเวลา 4 เดือน ขั้นตอนสุดท้าย"สุริยะ" ยืนยันว่าได้ถามที่ประชุม ว่า จะปรับหรือเสนออะไรเพิ่มเติมหรือไม่ แต่ที่ประชุมก็ยังยืนยันในมติว่า ให้เลือนออกไปอีก 6 เดือน อีกทั้งในที่ประชุมบางคนอยากให้เลือนออกไปนานกว่านี้ จึงถือว่ามติดังกล่าวเป็นเอกฉันท์

ส่วนมาตรา 12 พ.ร.บ.วัตถุอันตราย กำหนดว่าต้องมีมติ "สุริยะ" แจงว่า การลงมติไม่ใช่แค่การยกมืออย่างเดียว ซึ่งที่ประชุมได้มีการถามกันแล้วว่าเห็นด้วยหรือไม่ ไม่จำเป็นต้องทำเหมือนทุกครั้ง เพราะเมื่อเสียงส่วนใหญ่มีความเห็นแล้ว ก็ถือว่าเป็นมติ และมองว่าการทำงานก็ต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่

งานนี้เมื่อฟังความรอบด้าน ก็ไม่รู้เรื่อง "แบนสามสารพิษ" จะเป็นคดีพลิก หรืองานจะเข้าใคร พิษจะไปตกอยู่ที่ผู้ใด โปรดอย่ากระพริบตา.



กำลังโหลดความคิดเห็น