กมธ.ป.ป.ช.มีมติ 7 ต่อ 2 เสียง ยกเรื่องปลดประธาน กมธ. “สิระ” โวย “เสรีพิศุทธ์” เอา “วัฒนา-วิโรจน์” นั่งข้างหัวโต๊ะ “ปารีณา” ประชดลากเก้าอี้นั่งข้างประธาน “เสรีพิศุทธ์” เตือนรบกวนโสตประสาท “สิระ” เหน็บโสตประสาทถูกรบกวนเพราะมองอะไรปารีณา
การประชุมคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นประธาน ที่ห้องประชุมกรรมาธิการ 404 อาคารรัฐสภา เช้าวันนี้ (27 พ.ย.) มีนายวัฒนา เมืองสุข และ พล.ต.อ.วิโรจน์ เปาอินทร์ นั่งอยู่ข้างๆ หัวโต๊ะในฐานะที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการด้วย จนทำให้ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ และนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคพลังประชารัฐ ทักท้วงว่าไม่ถูกต้อง เนื่องจากเป็นการจัดที่นั่งละเมิดศักดิ์ศรีของ ส.ส.คนอื่นๆ ที่เป็นกรรมาธิการ และละเมิดธรรมเนียมปฏิบัติ เพราะที่ปรึกษาทั้งสองคนไม่ได้เป็น ส.ส.
โดยกรรมาธิการในสัดส่วนฝ่ายค้าน ทั้งนายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ, น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ, นายธีรัจชัย พันธุมาศ ต่างก็อภิปรายชี้แจงว่าไม่มีข้อบังคับกำหนดเกี่ยวกับการจัดสรรตำแหน่งที่นั่งในห้องกรรมาธิการ และควรให้เกียรติที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการที่เป็นระดับอดีตรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคการเมืองมาทำหน้าที่ที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการ จึงควรนั่งใกล้กับประธานกรรมาธิการ โดย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ก็ชี้แจงว่า บุคคลทั้งสองไม่ได้เป็นบุคคลที่ตนเองเสนอ แต่เป็นบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอมา จนทำให้ น.ส.ปารีณากล่าวต่อที่ประชุมว่า หากเอา ส.ส.สอบตกนั่งตรงไหนก็ได้ ตนเองก็จะนั่งตามใจบ้าง แล้วลากเก้าอี้ไปนั่งข้าง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ จน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์แซวว่า “ได้นั่งข้างคนสวย อย่าเผลอกอดผมนะ”
จากนั้นก่อนจะเข้าเรื่องหารือยังเกิดความวุ่นวาย เมื่อ น.ส.ปารีณาพิมพ์ข้อความในโทรศัพท์มือถือ จนทำให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์เหลือบไปมองและทักท้วงสั่งห้ามใช้ข้อมูลสื่อสาร โดยนายธีรัจชัยย้ำว่า เป็นอำนาจของประธานกรรมาธิการตามข้อบังคับข้อที่ 9 ว่าประธานสามารถวินิจฉัยกรณีเกิดความไม่สงบเรียบร้อยได้ จนทำให้นายสิระทักท้วงขึ้นมาว่า น.ส.ปารีณาแค่ใช้โทรศัพท์เท่านั้น ไม่ได้ก่อความวุ่นวายกวนประสาท และกล่าวว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ไม่ได้มองโทรศัพท์ น.ส.ปารีณา แต่มองอย่างอื่นของ น.ส.ปารีณา โดย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์กล่าวว่า น.ส.ปารีณาไม่มีอะไรน่ามอง และใช้อำนาจสั่งห้าม น.ส.ปวีณาใช้เครื่องมือสื่อสารในที่ประชุม
จากนั้นที่ประชุมกรรมาธิการเข้าสู่วาระที่นายสิระจะเสนอให้ที่ประชุมปลดประธานกรรมาธิการ ว่ามีอำนาจตามข้อบังคับสามารถทำได้หรือไม่ โดยนายธีรชัยยืนยันตามข้อบังคับข้อที่ 93 ว่าตำแหน่งกรรมาธิการเป็นไปตามอัตราส่วนของ ส.ส.แต่ละพรรคการเมือง แล้วจึงให้คณะกรรมาธิการเห็นชอบ จึงมองว่าคณะกรรมาธิการไม่สามารถปลดประธานกรรมาธิการออกจากตำแหน่งได้ เว้นแต่จะได้รับการยินยอมจากประธานกรรมาธิการ หรืออัตราส่วนของ ส.ส.มีความเปลี่ยนแปลงไป
ส่วนนายสิระชี้แจงว่า ตำแหน่งประธานกรรมาธิการชุดนี้เป็นโควตาของฝ่ายค้าน แต่ไม่เกี่ยวกับการกำหนดตัวบุคคล และมติที่แต่งตั้งประธานกรรมาธิการก็เป็นมติจากคณะกรรมาธิการทั้ง 15 คน ตำแหน่งประธานกรรมาธิการจึงไม่ใช่ตำแหน่งส่วนตัว คณะกรรมาธิการสามารถปลดได้
ขณะที่กรรมาธิการสัดส่วนรัฐบาลคนอื่นๆ เช่น นายรังสิกร ทิมาตฤกะ, นายสุฑา ประทีป ณ ถลาง เสนอให้นำเรื่องเข้าหากับประธานสภาผู้แทนราษฎรในที่ประชุมใหญ่
จนท้ายที่สุดที่ประชุมมีมติฝ่ายค้าน 7 เสียง เห็นว่าคณะกรรมาธิการไม่มีอำนาจปลดประธานกรรมาธิการ ฝ่ายรัฐบาล 2 เสียง ประกอบด้วย นายสิระ และ น.ส.ปารีณา ที่เห็นว่าคณะกรรมาธิการมีอำนาจปลดประธานกรรมาธิการ ส่วนกรรมาธิการที่เหลืองดออกเสียง จึงทำให้ที่ประชุมยกเรื่องการปลดประธานกรรมาธิการออกจากการพิจารณา