จับตา 25 พ.ย. ศาลอาญาคดีทุจริตฯ นัดพิพากษาคดี “พานทองแท้” ร่วมกันฟอกเงินทุจริตปล่อยกู้ ธ.กรุงไทย รับเช็คจาก “วิชัย” 10 ล้าน จำเลยจะปรากฏตัวที่ศาลหรือไม่?
ใกล้เข้ามาทุกขณะสำหรับคดีร่วมกันฟอกเงินการทุจริตปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย ให้กลุ่มกฤษดามหานคร ที่นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรนายทักษิน ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ต้องหาจากกรณีร่วมรับโอนเงินเป็นเช็คจำนวน 10 ล้านบาท เข้าบัญชี ซึ่งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 พ.ย.นี้ เวลา 10.00 น.
โดยคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อ พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล เลขาธิการคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้ดำเนินการให้มีการตรวจสอบเส้นทางการเงินของผู้เกี่ยวข้องคดีทุจริตปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย ให้กลุ่มกฤษดามหานคร ภายหลังศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุกอดีตกรรมการผู้บริหารธนาคารกรุงไทย อดีตเจ้าหน้าที่สินเชื่อ และกลุ่มกฤษดามหานคร จำนวนหลายราย ในช่วง ก.ค. 2560 ต่อมาวันที่ 13 ก.ย. 2560 พล.ต.อ.ชัยยะ ได้มอบหมายให้ นายสุนทรา พลไตร ผู้อำนวยการส่วนข้อมูลคดีและมาตรการพิเศษทางกฏหมาย เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ นายพานทองแท้, นายวันชัย และ นางกาญจนาภา หงส์เหิน เลขาส่วนตัวคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร มารดา นายพานทองแท้ จากการสั่งจ่ายเช็คจากนายวิชัย กฤษกาธานนท์ ผู้ต้องหาคดีทุจริตปล่อยเงินกู้ธนาคารกรุงไทยจำนวนเงิน 10 ล้านบาท และ 26 ล้านบาท ต่อพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม
ต่อมา พ.ต.อ.ไพศิษฐ์ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีคำสั่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนฯ และได้มอบหมายให้ พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร รองอธิบดีฯ ร่วมกับพนักงานอัยการสอบสวนเป็นผู้รับผิดชอบหลัก จนคณะพนักงานสอบสวนได้มีความเห็นสั่งฟ้องนายพานทองแท้, นายวันชัย และ นางกาญจนาภา ต่อพนักงานอัยการคดีพิเศษ 4 สำนักงานอัยการคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด จนกระทั่งวันที่ 10 ต.ค. 2561 สำนักงานอัยการคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ยื่นฟ้องนายพานทองแท้ ต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ ในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน และสมคบคบกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 5, 9, 60 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558 มาตรา 10 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และ 91 จากกรณีร่วมรับโอนเงินเป็นเช็คจำนวน 10 ล้านบาท เข้าบัญชี ซึ่งเงินนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำจากการทุจริตปล่อยกู้สินเชื่อระหว่างธนาคารกรุงไทย กับเอกชนกลุ่มกฤษดามหานคร โดยศาลฯ ได้ประทับรับฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำ อท.245/2561
ขณะที่ นายวันชัย และนางกาญจนาภา อัยการได้สั่งฟ้องกรณีรับเช็คโอนเงิน 26 ล้านบาท ซึ่งภายหลังทั้งคู่ได้ถูกศาลออกหมายจับเนื่องจากไม่มาศาลตามกำหนดนัดและมีพฤติการณ์หลบหนี
จนกระทั่งวันที่ 24 ก.ย. 2562 ศาลฯ ได้สืบพยานโจทก์ โดย นายสุนทรา ในฐานะผู้กล่าวหาคดีนี้ ได้เบิกความระบุมีพยานเห็นว่ามีการร่วมกันฟอกเงินเลยระหว่างจำเลยกับ นายวิชัย เนื่องจากมีการรับโอนและโยกย้ายเงินในหลายบัญชี ขณะที่ทั้งสองก็ไม่ได้มีนิติสัมพันธ์ใดๆ กันทางธุรกิจ นอกจากนี้ ยังพบว่าจำเลยได้โอนเงิน 10 ล้านบาท คืนนายวิชัย เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีกับผู้บริหารธนาคารกรุงไทย และ นายวิชัย เมื่อปี 2548 ส่วนที่ระบุว่า จำเลยทำธุรกิจรถยนต์กับนายรัชดา กฤษกาธานนท์ บุตรชายของนายวิชัย นั้น ก็ไม่น่าเชื่อถือ โดยการตรวจสอบเชื่อว่าการรับโอนเงินระหว่างจำเลยและนายวิชัย เป็นการให้ค่าตอบแทนบางประการ หลังจากที่นายวิชัย ได้รับเงินปล่อยกู้จากธนาคารฯ ซึ่งบิดาของจำเลย คือ นายทักษิณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และการตรวจสอบเส้นทางการเงินนั้นก็ดูจากต้นเงินที่เมื่อธนาคารกรุงไทย ได้ปล่อยกู้ ให้กับ บริษัทโกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จนถึงนายวิชัย จากนั้นก็เป็นนายพานทองแท้ ที่ได้รับเช็คโอนเงินเข้าบัญชี 10 ล้านบาท
ด้านนายพานทองแท้ได้ยื่นคำให้การใหม่เพิ่มเติม ก่อนเข้าเบิกความต่อศาลฯ ในการไต่สวนพยานฝ่ายจำเลย ในวันที่ 26 ก.ย.ว่า ได้วางแผนที่จะดำเนินธุรกิจนำเข้ารถยนต์ซูเปอร์คาร์ ที่จะมี นายรัชดา ร่วมด้วย โดยตนเป็นผู้คิดมาตั้งแต่ช่วงปี 2547 จากที่ได้มีการพูดคุยในกลุ่มเพื่อน 5-6 คน ซึ่งในวันรุ่งขึ้น นายรัชฎา ได้โทรศัพท์มาพูดคุยว่าจะขอร่วมลงทุนด้วย โดยเหตุที่ นายรัชฎา เร่งโทร.มาคุยเพราะกังวลว่าตนจะลืมชักชวนนายรัชฎา ลงทุนด้วย ซึ่งขณะนั้นคิดไว้เพียงว่า การลงทุนน่าจะต้องใช้เงินลงทุนคนละ 20 ล้านบาท แต่ยังไม่ได้กำหนดว่าร่วมลงทุนกี่คนเนื่องจากมูลค่ารถซูเปอร์คาร์นั้นต่อคันจะตกอยู่ที่ 20 ล้านบาทขึ้นไป ขณะที่ช่วงนั้นยังไม่มีบุคคลอื่นมาร่วมเสนอลงทุนด้วย ซึ่งตนก็ไม่ทราบเหตุผล
โดยตนได้ให้นายเฉลิม แผลงศร กรรมการผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน (CFO) ที่ดูแลเรื่องการเงินทุกบริษัทของตนไปศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจดังกล่าว แม้ นายเฉลิม จะไม่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับธุรกิจรถยนต์ซูเปอร์คาร์ แต่ที่ตนมอบหมายงานให้ศึกษา เพราะเป็นผู้ที่ตนไว้วางใจในเรื่องดูแลการเงินบริษัทและเงินส่วนตัว รวมทั้งธุรกิจตนด้วย สุดท้ายธุรกิจนี้ไม่ได้ดำเนินไป ยุติลงในชั้นของการศึกษาแนวทางก็เพราะนายเฉลิม ได้แจ้งผลการศึกษาการดำเนินธุรกิจนี้ให้กับตนว่ามีความเป็นไปได้ยาก และจะไม่คุ้มเงินลงทุนทางธุรกิจ ส่วนที่ นายรัชดา โอนเงิน 10 ล้านบาท ให้ตนที่จะมาร่วมลงทุนโดยเป็นเช็คชื่อ นายวิชัย นั้น ตนไม่ทราบเหตุผล
ทั้งนี้ ฐานความผิดในคดีฟอกเงินจะมีโทษจำคุก 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยคดีมีอายุความ 15 ปี ซึ่งในวันที่ 26 ก.ย.นั้น นายพานทองแท้ได้ยืนยันว่า จะกลับมาฟังคำพิพากษาอีกครั้งในวันที่ 25 พ.ย.นี้ แต่ทว่าล่าสุดกลับไม่พบความเคลื่อนไหวของนายพานทองแท้ ในโซเชียลเน็ตเวิร์กส่วนตัวแต่อย่างใด