องค์คณะอุทธรณ์คดีนักการเมือง พิพากษายืนยกฟ้อง "ทักษิณ" พ้นข้อกล่าวหา ม.157 ตั้งคลังแทรกแซงฟื้นฟูทีพีไอ ฟังไม่ได้ว่าเอื้อประโยชน์พวกพ้อง ขณะที่การเสนอชื่อคนบริหารแผนฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้ทุกฝ่ายยินยอม
วันนี้ (22พ.ย.) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ 9 คน ที่เลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา อ่านคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์คดีหมายเลขดำ อธ.อม.4/2561 ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. โจทก์ยื่นอุทธรณ์คดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2561 ด้วยคะแนนเสียงข้างมากยกฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร อายุ 70 ปี อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 จำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตเป็นเหตุให้ผู้หนึ่งผู้ใดเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีกล่าวหาเมื่อปี 2546 นายทักษิณ ขณะดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้นำเสนอให้กระทรวงการคลัง สมัยที่ ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทยจำกัด (มหาชน) หรือ ทีพีไอ และจำเลยร่วมกับ ร.อ.สุชาติ ยินยอมให้กระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผน และเป็นผู้เสนอชื่อ พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ เป็นประธานคณะผู้บริหารแผน และนายทนง พิทยะ เป็นผู้บริหารแผน
คดีนี้ ป.ป.ช. ยื่นฟ้อง นายทักษิณแบบไม่มีตัวจำเลยเมื่อปี 2561 เนื่องจากหลบหนีคดีอื่นอยู่ในต่างประเทศ และศาลพิจารณาคดีโดยไม่มีตัวจำเลย ตามขั้นตอน พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (วิ อม.) พ.ศ.2560 มาตรา 28, 33, 59 ซึ่งศาลออกหมายจับนายทักษิณแล้ว โดยชอบแล้ว ไม่ได้ตัวมาศาล ชั้นพิจารณาจำเลยไม่มาศาล ถือว่าจำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดี และเป็นสำนวนคดีแรก ในจำนวน 4 สำนวนที่อัยการสูงสุด และ ป.ป.ช. ยื่นพิจารณาคดีไต่สวนลับหลังจำเลยตาม วิ อม.ใหม่ แล้วศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษายกฟ้อง ขณะที่วันนี้มีเพียงผู้แทน ป.ป.ช.โจทก์เดินทางมาศาล ซึ่งศาลอ่านคำพิพากษาให้ฝ่ายโจทก์ฟัง และถือว่าจำเลยรับทราบคำพิพากษา
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ พิจารณาประเด็นที่ ป.ป.ช.โจทก์ยื่นอุทธรณ์แล้ว เห็นว่า แม้ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยตรงให้อำนาจกระทรวงการคลังเข้าเป็นผู้บริหารแผนของ บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอ ลูกหนี้ก็ตาม แต่กระทรวงการคลังมีอำนาจหน้าที่หลักในการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะ รวมถึงการพยุงสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไม่ให้เกิดความเสียหายมากจนยากแก่การแก้ไข
การเข้าไปเป็นผู้บริหารแผนของ ทีพีไอ ซึ่งประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนาดใหญ่ของประเทศ ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน หากทีพีไอไม่สามารถฟื้นฟูได้และตกเป็นผู้ล้มละลาย กิจการเหล่านั้นอาจหยุดชะงักประเทศชาติและประชาชนย่อมได้รับผลกระทบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ พฤติการณ์ย่อมมีความจำเป็นอย่างยิ่งและเร่งด่วนที่กระทรวงการคลังจะต้องดำเนินการเมื่อได้รับการร้องขอให้ช่วยเหลือ กระทรวงการคลังจึงเข้าไปเป็นผู้บริหารแผนของทีพีไอได้
ส่วนที่ ป.ป.ช.โจทก์ อุทธรณ์ว่า นายทักษิณ จำเลยเป็นผู้ริเริ่มผลักดันสั่งการและเป็นตัวการร่วม รวมถึงไม่ทักท้วงการพิจารณาของ ครม.เพื่อเปลี่ยนจากวาระเพื่อทราบ เป็นวาระเพื่อพิจารณา มีผลให้กระทรวงการคลังเข้าเป็นผู้บริหารแผนของทีพีไอโดยมีเจตนาครอบงำกิจการของทีพีไอ กับเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้องนั้น ข้อเท็จจริงได้ความเพียงว่า จำเลยเชิญตัวแทนของเจ้าหนี้และผู้บริหารของทีพีไอเข้าหารือที่บ้านพิษณุโลกเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของทีพีไอและการตั้งผู้บริหารแผนคนใหม่เท่านั้น แต่ที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่ได้เลือกกระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผนตามข้อเสนอของจำเลย หลังจากนั้นจำเลยก็ไม่ได้เข้าเกี่ยวข้องกับเหตุในคดีนี้ อีกทั้งต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งไม่ตั้งบริษัท บริหารแผนไทย จำกัด เป็นผู้บริหารแผน ตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้ โดยเห็นควรขอให้กระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผนหากกระทรวงการคลังยินยอม ซึ่งในท้ายที่สุดที่ประชุมเจ้าหนี้และทุกฝ่ายยินยอมให้กระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผน และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งตั้งกระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผนตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้ดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ส่วนข้ออ้างเกี่ยวกับการครอบงำกิจการของทีพีไอ โดยอ้างคำกล่าว “นายอยากใต้” คำว่า "นาย" หมายถึงจำเลย ผู้ที่พูดข้อความคือ ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ ไม่ใช่จำเลย จึงเป็นเพียงพยานบอกเล่ามีน้ำหนักน้อย และส่วนที่จำเลยเสนอชื่อคณะผู้บริหารแผนของทีพีไอ เป็นเพียงการเสนอความเห็นเบื้องต้นแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในเรื่องที่นำมาปรึกษาเท่านั้น และจะได้รับการแต่งตั้งหรือไม่ต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายอีกชั้นหนึ่ง
เมื่อไม่ปรากฏว่า นายทักษิณ จำเลย เข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารแผนฟื้นฟูกิจการของทีพีไอ หรือการบริหารกิจการ หรือเข้าไปรับโอนถือครองหุ้นของทีพีไอ จึงรับฟังไม่ได้ว่า การเสนอชื่อคณะผู้บริหารแผนของจำเลย เป็นการเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้อง
สำหรับข้ออ้างที่ว่าการขายหุ้นเพิ่มทุนของทีพีไอ ให้แก่หน่วยงานในกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง และศาลฎีกามีคำพิพากษาให้กระทรวงการคลังคืนเงินค่าจ้างบริษัท ซินเนอจี โซลูชั่น จำกัด ที่บริหารจัดการกิจการทรัพย์สินของทีพีไอ ให้แก่ทีพีไอ ทำให้ทีพีไอและกระทรวงการคลังได้รับความเสียหายนั้น เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งตั้งให้กระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผนของทีพีไอแล้ว หากทีพีไอหรือกระทรวงการคลังได้รับความเสียหายอย่างไร ทีพีไอหรือกระทรวงการคลังก็อาจไปว่ากล่าวแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องต่อไป เมื่อไม่ปรากฏในทางไต่สวน ว่าจำเลยได้เข้าไปเกี่ยวข้อง หรือรู้เห็นหรือมีพฤติการณ์ที่บ่งชี้ได้ว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษประสงค์ต่อผลเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น การกระทำของจำเลย จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ตามฟ้อง ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายกฟ้องมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของ ป.ป.ช.โจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้นพิพากษายืน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อองค์คณะผู้พิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้องแล้ว ผลคดีจึงถือเป็นที่สุด ยุติตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยนายทักษิณ อดีตนายกไม่มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบในกรณีดังกล่าว โดยขณะนี้คดีดังกล่าวถือเป็นคดีเดียวที่ศาลฎีกาฯ และองค์คณะวินิจฉัยชั้นอุทธรณ์ มีคำพิพากษายืนให้ยกฟ้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ 4 สำนวน ที่อัยการสูงสุด และ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องไว้ตั้งแต่ปี 2550-2551 และภายหลังยื่นขอพิจารณาคดีโดยไม่มีตัวจำเลย ตามกฎหมายใหม่ปี 2560 ประกอบด้วย คดีกล่าวหาร่วมทุจริตการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยให้กับกลุ่มกฤษดามหานคร ที่ยกฟ้องเมื่อวันที่ 30 ส.ค.62 , คดีกล่าวหาปล่อยกู้ธนาคารเอ็กซิมแบงค์ให้รัฐบาลพม่า 4,000 ล้านบาท เพื่อเอื้อประโยชน์กลุ่มชินคอร์ป ให้จำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา , คดีกล่าวหาดำเนินโครงการออกสลากพิเศษหวยบนดินโดยมิชอบ ให้จำคุก 2 ปีไม่รอลงอาญา และคดีกล่าวหาแปลงค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคมเป็นภาษีสรรพสามิต เอื้อประโยชน์ธุรกิจเครือชินคอร์ปฯ รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท ยังอยู่ในกระบวนไต่สวนพยานโจทก์