xs
xsm
sm
md
lg

เอฟเอโอ ถก"อลงกรณ์" ยกย่องไทยเป็นต้นแบบการพัฒนาเกษตรกรรม ชื่นชมต่อต้านไอยูยูสำเร็จ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอฟเอโอ ยกย่องไทยเป็นต้นแบบการพัฒนาเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ชื่นชมต่อต้านไอยูยูสำเร็จ พร้อมสนับสนุนบทบาทไทยในเวทีระหว่างประเทศ ประธานกองทุนเกษตรโลกเสนอไทยเป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศถ่ายทอดความรู้ด้านเกษตร “อลงกรณ์”ขานรับเตรียมเสนอรายงาน ”เฉลิมชัย” ผนึกพลังกับยูเอ็นเพิ่มบทบาทไทยในฐานะผู้นำด้านเกษตรและอาหารของโลกและประธานคณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลกของยูเอ็น

รายงานข่าวจากสำนักที่ปรึกษาการเกษตรของไทยประจำเอฟเอโอ วันนี้ (21พ.ย.)ว่า นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายพลพิศิลป์ สุวรรณชัย ผู้อำนวยการกองประมงต่างประเทศ นายธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูต (ฝ่ายเกษตร) และผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ (FAO/IFAD/WFP) ณ กรุงโรม เข้าเยี่ยมคารวะและหารือกับ นายเดเนียล กุสตาฟสัน รองผู้อำนวยการใหญ่ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ:FAO)ณ สำนักงานใหญ่ กรุงโรม ประเทศอิตาลี

โดยนายเดเนียล กุสตาฟสัน รองผู้อำนวยการใหญ่ เอฟเอ ได้กล่าวชื่นชมความสำเร็จของประเทศไทยในการพัฒนาภาคเกษตรกรรมและเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติและแสดงความยินดีที่ผู้แทนไทยได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก (CFS) พร้อมกับขอบคุณรัฐบาลไทยที่สนับสนุนกิจกรรมของสำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกของ FAO ในเรื่องการป้องกันปัญหาโรคระบาด ปัญหาเชื้อดื้อยาในภาคเกษตร ปศุสัตว์ และประมง นโยบายสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) และนโยบายต่อต้านประมงผิดกฎหมายพร้อมกับขอให้ไทยสนับสนุนข้อริเริ่มของผู้อำนวยการใหญ่เอฟเอโอ.เรื่องการร่วมมือทำงานใกล้ชิด(hand in hand )โดยการส่งเสริมโครงการการพัฒนาเกษตรอาหารและประมงกับประเทศอาเซียนและประเทศยากจนในภูมิภาคต่างๆโดยเอฟเอโอ.พร้อมขยายความร่วมมือกับไทยและสนับสนุนการเพิ่มบทบาทไทยในฐานะผู้นำด้านเกษตรอาหารและประมงของโลก

นายอลงกรณ์ พลบุตร กล่าวว่า ขอขอบคุณเอฟเอโอ.ที่สนับสนุนและร่วมมือกับประเทศไทยอย่างดียิ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา ขอยืนยันว่าประเทศไทยสนับสนุนแนวคิดการจับคู่เพื่อการพัฒนา “Hand-in-Hand Initiative” ของผู้อำนวยการใหญ่ FAO คนใหม่ และข้อริเริ่มการพัฒนาปประมงยั่งยืน(Blue Growth Initiative)รวมทั้งการสร้างความร่วมมือในกรอบใต้-ใต้(South-South and Triangular Cooperation:SSTC)ที่ผ่านมา โดยไทยได้ขยายความร่วมมือในการพัฒนาด้านเกษตรกรรมและเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศอื่นนอกอาเซียน ร่วมกับภาคเอกชนของไทย ทั้งนี้ประเทศไทยพร้อมให้ความร่วมมือและถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนาภาคเกษตรแบบครบวงจนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำโดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับเกษตรกรรายย่อยกลุ่มสตรีและเยาวชนและพร้อมยกระดับไทยเป็นศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านการเกษตรและอาหารในระดับภูมิภาค

นายอลงกรณ์ พลบุตร กล่าวว่า รัฐบาลไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญในด้านเกษตรและประมงเป็นอย่างยิ่ง ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารอันดับที่ 12 ของโลก ไทยได้พัฒนาระบบการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ผลักดันความร่วมมือในระดับภูมิภาค ไทยได้เสนอ โครงการ”ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการประมงที่ยั่งยืนในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน” ผลักดันการจัดทำนโยบายประมงอาเซียน และการจัดตั้งเครือข่ายอาเซียนเพื่อการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และการควบคุม (IUU)

ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ ได้แจ้งให้ FAO ทราบถึงการขับเคลื่อนนโยบายและแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้ปรับเปลี่ยนมุมมองการทำงานใหม่ โดยขับเคลื่อนนโยบายเกษตร 4.0 นำระบบข้อมูลเทคโนโลยีดิจิตอลมาสนับสนุนการผลิตภาคเกษตร เช่น โครงการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (AgriTech and Innovation Center) ใน 77 จังหวัด โดยเป็นการทำงานเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน มหาวิทยาลัย และสถาบันเกษตรกรรวมทั้ง พัฒนาระบบอีคอมเมอร์ซเชื่อมโยงเกษตรกรกับตลาด

ขณะนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสําคัญในเรื่องการผลิตเกษตรอินทรีย์และอาหารที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยผลักดันให้มีการรับรองแปลงเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันก็สนับสนุนการส่งเสริมการทำเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อร่วมกลุ่มของเกษตรกร และยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ให้ทำงานหรือบริหารจัดการธุรกิจร่วมกันเพื่อลดต้นการผลิต สร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่ม

หลังจากนั้น นายอลงกรณ์ พลบุตร และคณะได้เข้าเยี่ยมคารวะ Mr. Gilbert Houngbo ประธานกองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม (IFAD) โดยนายกิลเบิร์ตกล่าวว่า IFAD เป็นหนึ่งในองค์กรของสหประชาชาติ ทำหน้าที่เปรียบเสมือนธนาคารเกษตรของโลก จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ช่วยเหลือประเทศสมาชิก ซึ่งมีอยู่ 176 ประเทศ ในการพัฒนาและสนับสนุนการเชื่อมโยงภาคเกษตรกับภาคธุรกิจให้เกิดการลงทุนในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อสร้างความเข้มเข็งและสร้างความเป็นอยู่ที่ดีแก่เกษตรกร เยาวชน และสตรีในชนบท ซึ่งความช่วยเหลือส่วนใหญ่อยู่ในรูปของโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือความช่วยเหลือแบบให้เปล่า (Grant) สำหรับการพัฒนาด้านวิชาการ ด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี ด้านการเงินและการตลาด ทั้งนี้ ประธาน IFAD กล่าวขอบคุณประเทศไทยในความร่วมมือระหว่างกันและมองว่า ประเทศไทยมีประสบการณ์ในการพัฒนาด้านการเกษตร และมีผลสำเร็จที่สามารถถอดแบบตัวอย่างเพื่อถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้กับประเทศอื่นๆยิ่งกว่านั้นไทยยังเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลกพร้อมที่จะสร้างบทบาทการเป็นประเทศผู้นำและผู้ให้ โดยเฉพาะการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ด้านการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรรมที่ยั่งยืน กับองค์กรระหว่างประเทศและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาซึ่งIFADพร้อมขยายความร่วมมือกับประเทศไทยรวมทั้งเรื่องโลจิสติกส์กรณีเกิดภัยพิบัติและวิกฤตด้านอาหารและความอดอยากขาดแคลนแบบเร่งด่วน

ในระหว่างการหารือ นายอลงกรณ์ ได้กล่าวถึงนโยบายและแนวทางการดำเนินงานด้านต่างๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐบาล เพื่อมุ่งเน้นให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สร้างโอกาสให้เกษตรกรได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อพัฒนาการผลิตมากขึ้น โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ ธกส. และธนาคารออมสิน จัดตั้งโครงการสินเชื่อประมงดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่องและการฟื้นฟูอาชีพประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์ และประมงนอกน่านน้ำ ซึ่งคาดว่าจะเป็นอีกหนึ่งโมเดลตัวอย่างสำหรับIFADและประเทศสมาชิกนอกจากนี้ ยังมีโมเดลการสร้างแหล่งรายได้ใหม่ของเกษตรกรเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวและการค้าเช่นโครงการฟิชเชอร์แมนวิลเลจสเตย์และโครงการออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง นอกจากนี้กระทรวงเกษตรฯ กำลังพัฒนาระบบฐานข้อมูลBig DataและAIภาคเกษตรให้ทันสมัยยิ่งขึ้น และไทยได้นำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

นายอลงกรณ์ ได้ขอบคุณ IFAD ที่ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม “Mekong Knowledge and Sharing Fair” เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ณ กรุงเทพมหานคร เพื่อส่งเสริมการการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของประเทศลุ่มน้ำโขง เพื่อยกระดับการมีส่วนร่วมของเกษตรกรรายย่อยกับภาคเอกชนและสถาบันการเงินภาคเกษตร” และขอบคุณ IFAD ที่ให้การสนับสนุนไทยดำรงตำแหน่งประธานความมั่นคงอาหารโลก (World Food Security หรือ CFS) ด้วย และเตรียมเสนอรายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อนเรื่องความร่วมมือกับFAOและIFADเพื่อผนึกพลังกับยูเอ็นเพิ่มบทบาทไทยในฐานะผู้นำด้านเกษตรและอาหารของโลกต่อไปและในโอกาสที่ไทยได้รับเลือกเป็นประธานคณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก(Committee on World Food Security:CFS)ระหว่างปี2019-2021






กำลังโหลดความคิดเห็น