เอเอฟพี – รายงานชิ้นใหม่ระบุการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะสร้างความสูญเสียโดยตรงต่อเศรษฐกิจโลกถึง 7.9 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2050 จากภาวะแห้งแล้งและน้ำท่วมที่มีแนวโน้มรุนแรงและเกิดบ่อยขึ้น ผลผลิตการเกษตรตกต่ำ และความเสี่ยงต่อโครงสร้างพื้นฐาน
ในวันพุธ (20 พ.ย.) อิโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต (อีไอยู) ได้เปิดเผยดัชนีการฟื้นคืนสภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นการตรวจวัดความพร้อมของ 82 ประเทศใหญ่ที่สุดในโลก และพบว่า ผลกระทบจากอุณหภูมิโลกที่จะขยับสูงขึ้นโดยอิงกับแนวโน้มปัจจุบันนั้น อาจทำให้มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของโลกลดลงถึง 3% ภายในปี 2050
รายงานการวิเคราะห์นี้ซึ่งประเมินความเสี่ยงโดยตรงในการสูญเสียของแต่ละประเทศ จากการที่การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศส่งผลให้สภาพอากาศแปรปรวนรุนแรงบ่อยขึ้นนั้น พบว่า แอฟริกาเป็นภูมิภาคที่มีความเสี่ยงสูงสุด โดยมีแนวโน้มจีดีพีดิ่งลง 4.7%
จอห์น เฟอร์กูสัน ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ประเทศของอีไอยู ชี้ว่า โดยทั่วไปนั้นประเทศกำลังพัฒนามีความสามารถในการฟื้นคืนสภาพน้อยกว่าประเทศร่ำรวย
รายงานแจงว่า แองโกลาเป็นประเทศที่มีแนวโน้มสูญเสียมากที่สุดถึง 6.1% ของจีดีพี
สาเหตุการสูญเสียโดยรวมคือการขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ ความเสี่ยงเชิงภูมิศาสตร์ในการประสบภาวะแห้งแล้งรุนแรง การสึกกร่อนของดิน และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น
ปัญหาที่ดินเสื่อมโทรมในแองโกลาจะตอกย้ำอุปสรรคสำคัญทางเศรษฐกิจ เนื่องจากภาคเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างตำแหน่งงานมากที่สุดของประเทศนี้
ประเทศที่ถูกคาดหมายว่า จะได้รับผลกระทบรุนแรงรองลงมาคือ ไนจีเรีย (จีดีพีติดลบ 5.9%), อียิปต์ (5.5%), บังกลาเทศ (5.4%) และเวเนซุเอลา (5.1%)
รายงานระบุว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเติบโตคิดเป็นมูลค่า 250 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2050 แต่หากปราศจากผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เศรษฐกิจโลกจะมีมูลค่า 258 ล้านล้านดอลลาร์
แม้อเมริกาที่มีระบบเศรษฐกิจใหญ่สุดของโลก ถูกคาดหมายว่า จะเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด แต่อีไอยูตั้งข้อสังเกตว่า นโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็น “ความพ่ายแพ้ชั่วคราว” ในการต่อสู้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
รัสเซียได้รับการคาดหมายว่า จีดีพีจะลดลง 5% ในปี 2050 และได้รับผลกระทบจากปัญหานี้รุนแรงกว่าประเทศส่วนใหญ่ แม้พิจารณาว่าภาคเกษตรกรรมจะมีผลประโยชน์เพิ่มขึ้นก็ตาม
ชั้นดินเยือกแข็งคงตัวของแดนหมีขาว ที่เมื่อโลกร้อนขึ้นจะเกิดการหลอมละลาย และกลายเป็นภัยคุกคามโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่อส่งไฮโดรคาร์บอน ได้รับการคาดหมายว่า จะเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่สุดต่อเศรษฐกิจรัสเซียในช่วงหลายทศวรรษต่อไป
ทั้งนี้ ประเทศต่างๆ ตกลงกันที่ปารีสเมื่อปี 2015 ในการร่วมกันจำกัดไม่ให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 องศาเซลเซียส ซึ่งจะเป็นไปได้ด้วยการร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้ทำให้เกิดการโต้แย้งอย่างหนัก โดยประเทศกำลังพัฒนายืนกรานว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของตนต้องไม่ถูกบังคับให้แบกรับผลพวงจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลของประเทศมั่งคั่งตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา
เฟอร์กูสันเตือนว่า นี่ไม่ใช่เรื่องของการเลือกว่าจะลงมือทำทันทีหรือจะทำในอนาคต แต่ต้องทำทั้งสองอย่าง และเสริมว่า ประเทศกำลังพัฒนาไม่สามารถดำเนินการด้วยตัวเอง แต่ต้องมีความพยายามร่วมกันของทุกประเทศทั่วโลกเพื่อจัดการกับผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ