xs
xsm
sm
md
lg

“อดิศร” โดดป้อง “เสรีพิสุทธิ์” ถ้าปลดได้ “ชวน” ก็ปลดได้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“อดิศร” ออกหน้าป้อง “เสรีพิสุทธิ์” หลังถูก “สิระ” เสนอปลดจาก ประธาน กมธ.ปปช. อ้างประเพณีการเมืองไม่ทำกัน ฮึ่มใส่ “ชวน” ถ้าปลดประธานกรรมาธิการได้ ประธานสภาผู้แทนราษฎรก็ปลดได้

วานนี้(14 พ.ย.) เฟซบุ๊ก Adisorn Piengkes ของ รศ.พิเศษ ดร.อดิศร เพียงเกษ โฆษกผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร โพสต์ หัวข้อ “ปลดประธานกรรมาธิการได้ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็สามารถถูกปลดจากตำแหน่งได้”

เนื้อหาระบุว่า ข่าวที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร(นายชวน หลีกภัย)ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อต่างๆ ว่า สามารถ “ปลด” ประธานกรรมาธิการ(สามัญ)ได้ แล้วแต่ที่ประชุมของคณะกรรมาธิการ รายละเอียดให้สัมภาษณ์คงหมายถึง การที่สส.สิระ เจนจาคะ จากพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะกรรมาธิการ ปปช.ของสภาผู้แทนราษฎร จะเสนอปลด พล.ต.อ. เสรีพิสุทธิ์ เตมียเวช ประธาน กมธ.ปปช.ออกจากตำแหน่ง

ถ้าตีความตรงไปตรงมา ใครจะเป็นประธานในกรรมาธิการสามัญ ก็แล้วแต่ที่ประชุมของคณะกรรมาธิการนั้นๆ จะเลือก

ประชุมแต่ละครั้ง ที่ประชุมสามารถเลือกประธานได้

แต่ตามประเพณีการปฏิบัติที่มีมาในสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ใครจะเป็นประธานกรรมาธิการสามัญคณะใด เป็นไปตามข้อตกลงของแต่ละพรรคการเมือง ตามสัดส่วนที่แต่ละพรรคมีจำนวนส.ส.มากน้อยอย่างไร ก็จัดสรรโควตาให้แก่พรรคการเมืองนั้นๆ ส่งตัวแทนของตนมาดำรงตำแหน่ง “ประธาน” ในคณะกรรมาธิการสามัญนั้นๆ

การดำรงตำแหน่งประธานในสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน ก็เป็นไปตามที่ได้อธิบายมาแล้ว

การที่คุณสิระ เจนจาคะ จากพรรคพลังประชารัฐ ที่ออกมาให้ข่าวจะ “ปลด” ประธาน ปปช. หากเป็นจริง ก็ถือได้ว่า คุณสิระฯ ไม่เข้าใจระบบประเพณี การเคารพสัดส่วนของแต่ละพรรคการเมือง ในการเป็นประธานในคณะกรรมาธิการสามัญ

การเอาชนะคะคาน หรือการเอาใจผู้มีอำนาจ ไม่ใช่วิถีทางของนักประชาธิปไตย

ถ้าปลดประธานกรรมาธิการได้

เราก็สามารถ “ปลด” นายชวน หลีกภัย ออกจากประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เช่นกัน

เป็นนักการเมือง ต้องเข้าใจการเมือง อย่ารับใช้ผู้มีอำนาจ จนลืมศักดิ์ศรีของตนเองเลยนะครับ

ที่น่าสนใจในวันเดียวกัน(14 พ.ย.) นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก แสดงความเห็นกรณีที่คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบเชิญนายกรัฐมนตรีไปชี้แจงปมถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ ในหัวข้อ เข้าสู่พื้นที่สังหาร (Killing Zone)

โดยระบุว่า ผมอ่านคำชี้แจงของนายกรัฐมนตรี(พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ที่มีหน้งสือชี้แจงต่อพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวช ประธานกรรมาธิการปปช.สภาผู้แทนราษฎร แล้ว ผมระทึกใจเป็นอย่างยิ่ง ถ้าเป็นการทำสงคราม ตอนนี้นายกรัฐมนตรี และประธานกรรมาธิการปปช.เข้าอยู่ในเขตพื้นที่สังหาร (Killing Zone) เรียบร้อยแล้ว หากไม่มีฝ่ายใดถอย ต้องมีผู้พ่ายแพ้แน่นอน ไม่มีทางเสมอ

ผมหมายความว่า หากพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์และคณะกรรมาธิการมีคำสั่งเรียกนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง และหากครั้งนี้นายกรัฐมนตรีปฏิเสธไม่ไปอีก พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ก็ต้องดำเนินการตาม มาตรา 16 โดยพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์และคณะกรรมาธิการก็ต้องดำเนินการด้วยการแจ้งความกล่าวโทษนายกรัฐมนตรีต่อพนักงานสอบสวน ซึ่งหากผิดนายกรัฐมนตรีก็มีโทษตามมาตรา 13 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน แต่ฝ่ายนายกรัฐมนตรีเองก็ต้องต่อสู้ว่า เหตุที่ไม่ไปเพราะคำสั่งเรียกของพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และหากเป็นเช่นนั้น พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ ก็อาจมีโทษตาม ม.12 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี

อันชีวิตมนุษย์นั้น เขาไม่ให้ทดลองใน 2 เรื่อง คือ 1.ทดลองยา 2.ทดลองกฎหมาย บัดนี้ มีคนกินดีหมีจะทดลองกฎหมายเข้าให้แล้วแล้ว

ใครถือข้างฝ่ายไหนก็เลือกเชียร์กันเอาเอง แต่ถ้าไม่มีใครถอย งานนี้ ไม่มีการเสมอแน่อน แต่จะมีคนติดคุก ในใจผมมีคำตอบอยู่แล้วว่าคนติดคุกน่าจะเป็นใคร

การออกคำสั่งเรียกตามม.8 นั้น คณะกรรมาธิการต้องมีมติด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่ง จึงจะออกคำสั่งเรียกได้ ว่าก็ว่าเถอะ คงจะมีกรรมาธิการบางท่านไม่อยากเอาตัวไปลองกฎหมาย ผมว่าวันนั้นอาจมีกรรมาธิการไม่มาประชุม หรือ มาสาย หรือลาป่วยก็มี คอยดู!!

ด้าน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธาน กมธ.ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ จะเสนอปลดตนเองออกจากประธาน กมธ.ป.ป.ช. ว่า นายสิระอยู่ในห้องประชุมก็เรียบร้อยดี เวลาโหวตเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มาชี้แจงครั้งต่อไปหรือไม่ ซึ่งผลโหวตก็ออกมาว่าให้มาชี้แจง 6 คน ไม่ให้มา 3 คน ซึ่งนายสิระ ก็มาพูดคุยว่าเป็นธรรมดี แต่พอออกจากห้องประชุมก็เสนอปลดประธาน กมธ.

“มีสิทธิ์อะไรจะมาปลด หรือมาเปลี่ยนผม จะเห็นได้ว่าเป็นขบวนการทางการเมืองที่ฝ่ายรัฐบาลเอามาใช้ในสภาฯ และใน กมธ. ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีอะไร เพราะผมเป็นประธาน กมธ.ฯ เป็นผู้กำหนดการประชุม”

จากแฟ้มภาพ
ขณะที่ สิระ อ้างว่า กมธ.สามารถเปลี่ยนตำแหน่งได้ หากเห็นว่าประธานฯ มีความไม่เหมาะสม ก็สามารถโหวตเปลี่ยนแปลงได้ จึงอยากให้พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ ไปศึกษาข้อบังคับให้ดี ขณะนี้ การทำงานของกมธ. มีการนำประเด็นส่วนตัวมาใช้ในกมธ. ทำให้ไม่สามารถทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมได้เต็มที่ ทำให้เสียโอกาส และในการเป็นประธาน ก็มีความไม่เหมาะสมในหลายประเด็น

1. ปกปิดข้อมูล กรณีตัวแทนนายกรัฐมนตรี นำข้อมูลมาชี้แจง กมธ.ขอดูข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการพิจารณา แต่ไม่ได้ดู 2. พฤติกรรมไม่เหมาะสม กรณีชี้หน้ากมธ.ในที่ประชุม จึงขอถามกลับไปว่า ถ้าประธานฯ โดนชี้หน้าบ้าง จะรู้สึกอย่างไร 3.ไม่เปิดโอกาสให้สมาชิกได้แสดงความคิดเห็นตามอำนาจหน้าที่ 4. แถลงข่าวประจานกมธ. ในขณะที่กมธ.ไม่อยู่ด้วย 5.ใช้วาจาไม่เหมาะสมกับกมธ. และ 6.ไม่ให้เกียรติกมธ.

ขณะที่ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณี นายสิระ ระบุว่า จะเตรียมเสนอปลด พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ออกจากตำแหน่งประธาน กมธ.ป.ป.ช. เนื่องจากมีคุณสมบัติไม่เหมาะสมว่า สามารถทำได้ แต่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกมธ. ในชุดนั้น เพราะกมธ.แต่ละชุด เมื่อได้รับเลือกเข้ามาทำหน้าที่ ก็จะเลือกประธาน กมธ. กันเอง

และที่น่าจับตามองอย่างยิ่งก็คือ “สิระ” เผยเอาไว้แล้ว(13 พ.ย.)ว่า การประชุม กมธ.ครั้งต่อไปในวันที่ 20 พ.ย. จะมีการเสนอให้เปลี่ยนตัวประธาน กมธ. โดยตนจะเป็นผู้เสนอ และมั่นใจว่ามีเสียงจาก กมธ.เกินครึ่งที่จะสนับสนุน จาก กมธ.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล มี 15 เสียง เราจะได้ 8 เสียง ตามระเบียบการประชุมประธานสามารถออกเสียงได้ แต่ตามมารยาทแล้วควรงดออกเสียง

เป็นเรื่องที่หลายคนสนใจว่าจะทำสำเร็จหรือไม่

สำหรับ รศ.พิเศษ ดร.อดิศร เพียงเกษ โฆษกผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร (นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์) เคยเป็นอดีตประธานสถานีประชาชน อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ประสบการณ์การเมือง สมัยเป็นนักศึกษา เคยร่วมชุมนุมขับไล่พระถนอม เมื่อกลางเดือนกันยายน ถึงต้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2519 อันเป็นชนวนสำคัญของเหตุการณ์ 6 ตุลา หลังจากนั้นครอบครัวของเขาได้เข้าเป็นแนวร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยพำนักอยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และมีชื่อจัดตั้งว่า "สหายศรชัย" หรือ "สหายสอง"

อดิศรเริ่มเข้าสู่การเมืองเมื่อพ.ศ. 2526 สังกัดพรรคแรงงานประชาธิปไตย แต่ไม่ประสบความสำเร็จ กระทั่งได้รับการเลือกตั้ง เป็นส.ส. ขอนแก่น พรรคมวลชน พ.ศ. 2531 ต่อมา ย้ายไปสังกัดพรรคพลังธรรม และเข้ารับตำแหน่ง รองเลขาธิการพรรคนำไทย ก่อนย้ายมาร่วมงานกับพรรคไทยรักไทย และพ.ศ. 2550 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้ตัดสิทธิทางการเมือง เป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นหนึ่งในกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน ซึ่งถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549

อดิศรเคยเป็นรัฐมนตรี 4 สมัย คือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม, รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ในช่วงการเคลื่อนไหวของ นปช. อดิศร ถือเป็นหนึ่งในแกนนำเคลื่อนไหวด้วย

ดังนั้น การออกมาโพสต์เฟซบุ๊กในทำนองปกป้อง พล.ต.อ. เสรีพิสุทธิ์ พร้อมกับหันไปแขวะ นายชวน หลีกภัย ครั้งนี้ ก็ไม่น่าแปลกใจอะไร เพราะเป็นการเล่นการเมือง ตามเกมฝ่ายค้านอยู่แล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น