เปิดหนังสือ “ประยุทธ์-ประวิตร” ถึง กมธ.ป.ป.ช.ยันเซ็นแล้ว พร้อมแจงปมถวายสัตย์ ศาล รธน.ไม่รับคำร้อง องค์กรอื่นไร้อำนาจตรวจสอบ-เคยแจงในสภาแล้วเมื่อ 18 ก.ย. 62 ส่วน พ.ร.บ.งบประมาณผ่านสภาฯ วาระแรกไปแล้ว ไม่มีประเด็นใดเกี่ยวข้องกับการทุจริตที่อยู่ในอำนาจตรวจสอบของ กมธ. แต่หากมีประเด็นสงสัยให้แจ้งรายละเอียดมา พร้อมตอบ
วันนี้ (14 พ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า จากกรณีที่คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร ได้ส่งหนังสือเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (กห.) เข้าแถลงข้อเท็จจริงต่อ กมธ.ป.ป.ช.นั้น เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ทางสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ได้ทำหนังสือตอบกลับไปยังประธาน กมธ.ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงกลับว่า ประเด็นเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณ มาตรา 129 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บัญญัติว่า การกระทำกิจกรรม การสอบหาข้อเท็จจริง หรือการศึกษาตามวรรค 1 ต้องเป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2562 ไม่รับคำร้องของนายภาณุพงษ์ ชูรักษ์ ซึ่งเสนอโดยผู้ตรวจการแผ่นดินไว้พิจารณาวินิจฉัย โดยมีเหตุผลสรุปได้ว่า “การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ดังกล่าว จึงไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด” และมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณา จึงเห็นว่าสภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมาธิการ ซึ่งเป็นองค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 129 ไม่อาจตรวจสอบในเรื่องเดียวกันนี้
ประเด็นต่อมาที่ทาง กมธ.ป.ป.ช.ตั้งประเด็นระบุว่า คณะรัฐมนตรีไม่มีอำนาจเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เพราะยังไม่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณให้ถูกต้องครบถ้วนนั้น เห็นว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณเฉพาะพระพักตร์พระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา 161 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 แล้ว ดังที่ได้ชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2562
“ดังนั้น ขอถือเอาคำชี้แจงนั้น เป็นคำชี้แจงต่อ กมธ.ป.ป.ช.ในครั้งนี้ โดยจะไม่ขอตอบคำถามอื่นใดในประเด็นนี้อีก”
ส่วนร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่คณะรัฐมนตรีเสนอ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2562 นั้น ทางสภาฯ มีมติรับหลักการในวาระหนึ่ง โดยมีมติเอกฉันท์เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2562 และมีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญ ขึ้นมาพิจารณาแล้ว ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างที่คณะกรรมาธิการ กำลังดำเนินการ จึงถือได้ว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติโดยถูกต้องครบถ้วน ไม่มีเหตุผลที่ กมธ.คณะใด หรือสภาผู้แทนราษฎร จะมีความเห็นเป็นอื่น อันจะทำให้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ต้องล่าช้า หรือสิ้นสุดลง เว้นแต่จะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าการเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีชุดเดียวกันนี้ได้เคยเสนอร่าง พ.ร.บ.ต่อรัฐสภา จนประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้วสองฉบับ และประกาศใช้พระราชกำหนดแล้วสองฉบับ รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่ในฐานะฝ่ายบริหาร ตามรัฐธรรมนูญและในส่วนที่สัมพันธ์กับรัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลยุติธรรม องค์กรตามรัฐธรรมนูญและรัฐบาลต่างประเทศ ตลอดจนสถาบันพระมหากษัตริย์มาแล้วหลายเรื่อง โดยไม่เคยมีผู้ใดคัดค้าน หรือทักท้วงอำนาจ หรือสถานะความเป็นคณะรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
สำหรับประเด็นการตรวจสอบการทุจริตนั้น เห็นว่าคณะกรรมาธิการฯ คณะนี้ตั้งขึ้นตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 90 (22) ซึ่งระบุขอบเขตหน้าที่และอำนาจว่า กมธ.ป.ป.ช.มีหน้าที่และอำนาจ กระทำกิจการพิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการและมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ตรงนี้เห็นว่าประเด็นเกี่ยวกับการเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่จะมีการสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาในครั้งนี้ กมธ.ป.ป.ช.ไม่ได้แจ้งว่ามีประเด็นใดที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต หรือประพฤติมิชอบ อันอยู่ในขอบเขตหน้าที่ และอำนาจของ กมธ.ป.ป.ช.
“อย่างไรก็ตาม เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานของ กมธ.ป.ป.ช.ดังกล่าว ข้าพเจ้าจึงขอมอบหมายรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม (พล.อ.ชาญชัย ช้างมงคล) เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุม เพื่อรับฟัง รับทราบประเด็นแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ตามวันเวลาและสถานที่ข้างต้น จึงเรียนมาเพื่อทราบ”
ทั้งนี้ แหล่งข่าวใกล้ชิดนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า หนังสือตอบกลับไปยัง กมธ.ป.ป.ช.ดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงกลาโหม ได้ลงนามเป็นที่เรียบร้อย ก่อนที่จะส่งไปยังประธาน กมธ.ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ส่งหนังสือตอบกลับประธาน กมธ.ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 โดยยืนยันว่าได้เคยชี้แจงประเด็นข้อสงสัยของ กมธ.ป.ป.ช.ไปแล้วว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย และวิธีปฎิบัติแล้วทุกประการ หาก กมธ.ป.ป.ช.ยังมีข้อสงสัยในประเด็นใด ขอให้แจ้งรายละเอียดแห่งประเด็นมา เพื่อที่จะได้พิจารณาประเด็นข้อสงสัยของ กมธ.ป.ป.ช.ต่อไป โดย พล.อ.ประวิตรได้ลงนามในหนังสือดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อย