วุฒิสภาจัดกิจกรรมพบสื่อเชื่อมสัมพันธ์ ปัดทำงานล้มเหลว ผลงานเพียบ-ขาดพีอาร์ ฉุนพวกจ้องโละ ย้ำไม่ใช่ไส้ติ่ง ย้อน ปชต.ไทยมี 2 สภานาน 87 ปี ระบุงบ กมธ.ส.ว.มากกว่า กมธ.ส.ส.ไม่ใช่เรื่องใหญ่ คุยกันได้ ชี้สิทธิส่วนตัว ส.ว.นั่ง กมธ.แก้ รธน.
วันนี้ (15 พ.ย.) ที่อาคารสุขประพฤติ ถนนประชาชื่น กรุงเทพฯ คณะกรรมการประชาสัมพันธ์ วุฒิสภา จัดกิจกรรม “วุฒิสภาพบสื่อมวลชน” เพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับสื่อมวลชน พร้อมทั้งเปิดตัวจุดแถลงข่าวของวุฒิสภา ที่ห้องโถงชั้น 1 อาคารสุขประพฤติ โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา นายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 และโฆษกคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ เข้าร่วมงาน ทั้งนี้ นายพรเพชรกล่าวช่วงหนึ่งว่า ขอบคุณสื่อมวลชนที่ให้ความสนใจในกิจกรรม การดำเนินงานครั้งนี้วุฒิสภาต้องการลบล้างสิ่งที่คนบอกว่าเราไม่มีผลงาน เพราะเรามีผลงานแต่ไม่มีการประชาสัมพันธ์ จึงได้กระจายงานประชาสัมพันธ์ให้กับโฆษกของแต่ละคณะกรรมาธิการฯ ที่รับผิดชอบ วันนี้จะไม่เอาวิธีการทำงานแบบเก่าที่ให้สื่อต้องมาถามหาจากตน แต่ไปถามโดยตรงกับกรรมาธิการฯ ที่เกี่ยวข้องได้เลย วุฒิสภาพร้อมที่จะเดินหน้าเผยแพร่ผลงานเพื่อไม่ให้ประชาชนสงสัยว่าเรากำลังทำอะไรกันอยู่
นายพรเพชรได้กล่าวถึงกรณีที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี หลังพบว่าเงินงบประมาณของกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้น้อยกว่าของกรรมาธิการวุฒิสภาว่า ตนไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าสำนักงานงบประมาณได้จัดสรรอย่างไร แต่น่าจะเป็นการคำนวณงบฯ ตามภารกิจที่ทำและจำนวนสมาชิก ส่วนกรณีที่ตั้งข้อสังเกตว่า ภาระงาน ส.ว.น้อยกว่าของ ส.ส.หรือไม่นั้น เชื่อว่ามีภาระงานเท่ากัน ต่างกันที่จำนวนคณะกรรมาธิการฯ เท่านั้น แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ สามารถพูดคุยกันได้
สำหรับการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ควรจะมี ส.ว.เข้าร่วมด้วยหรือไม่นั้น นายพรเพชรกล่าวว่า ในทางปฏิบัติเมื่อเป็นญัตติของสภาผู้แทนราษฎรก็ต้องมีสัดส่วนจากฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และคณะรัฐมนตรี จะไม่มีองค์ประกอบของ ส.ว. ถ้าอยากให้มี ส.ว.ก็ต้องเสนอเป็นญัตติพิจารณาร่วมกันของรัฐสภา อย่างไรก็ตาม หากมีการเชิญ ส.ว.เข้าร่วมด้วยก็เป็นสิทธิของ ส.ว.คนนั้น ตนคงไปบังคับไม่ได้ แต่จากกระแสข่าวที่มีชื่อ ส.ว.2 คนอาจจะไปร่วมด้วยนั้นก็ได้ออกมาปฏิเสธแล้ว และยังไม่ได้มีการติดต่อมาที่ตนแต่อย่างใด และขณะนี้ก็ยังไม่มีการตั้งคณะกรรมาธิการฯ ของ ส.ว.ขึ้นมาศึกษาควบคู่กับของกมมาธิการฯ ของสภาฯ เนื่องจากญัตติของสภาผู้แทนราษฎรขณะนี้เป็นไปเพื่อการศึกษา ไม่ใช่เพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ส่วนกรณีที่มีการตั้งคำถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญควรมีการแก้ไขในส่วนของที่มา ส.ว.ด้วยหรือไม่นั้น นายพรเพชรกล่าวว่า “ถ้าพูดว่าไม่ควรมี ส.ว. หรือ ส.ว.เป็นไส้ติ่ง ตัดทิ้งไปนั้น อยากถามว่า ตลอดระยะเวลา 87 ปีของประชาธิปไตยนั้น เรามีแค่สภาฯ เดียวตอนไหน ตอบได้หรือไม่ และอยากให้เป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือ เพราะที่ผ่านมามี 2 สภามาโดยตลอด”
นายพรเพชรกล่าวว่า 5 เดือนที่ผ่านมาของ ส.ว.ชุดนี้ เราตั้งกรรมาธิการฯ ได้ในเวลาที่เร็วพอสมควร เข้ามาก็ทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย พิจารณาร่างพระราชกำหนดต่างๆ ไปตามปกติ รวมถึงวางโครงการวุฒิสภาพบประชาชนด้วย เรียกว่าชัดเจนกว่าสมัย สนช.ด้วยซ้ำ เพียงแต่ประชาชนไม่เห็น ซึ่งอาจเป็นเพราะได้สัมผัสกับผู้ที่ทำงานน้อยไป แต่ยืนยันว่า ตลอด 5 เดือนที่ผ่านมาไม่ได้ล้มเหลว และได้ผลงานเป็นที่พอใจ
ส่วนที่ ส.ว.มักถูกมองว่าชอบออกมารับลูกรัฐบาลนั้น นายพรเพชรกล่าวว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา ต่างเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ชาติโดยตำแหน่ง ดังนั้น ต้องมีส่วนร่วมกำหนดยุทธศาสตร์ชาติด้วย แต่ยืนยันว่าไม่ได้มีการรับลูกอะไร เมื่อกฎหมายปฏิรูปหรือกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติเข้าสู่การพิจารณาก็จะได้เห็นการทำหน้าที่ของ ส.ว.อย่างแน่นอน