ส.ส.บัญชีรายชื่อ ภท. อภิปรายจี้ กสทช.ประมูล5G ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อ ปชช. ย้ำต้องเรียกคืนคลื่น 3.5GHz รองรับอุตสาหกรรมโรโบติก เร่งนำสายสื่อสารลงดินเพิ่ม แนะใช้เงินกองทุนวิจัยฯ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี
วันนี้ (7 พ.ย.) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาวาระรับทราบรายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2559 และรายงานการประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินสำหรับปี 2559 ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาตินั้น พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า กสทช.ประกาศเรื่องการประมูล 5G ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทบต่อประชาชนอย่างมาก ต้องไม่ใช่การประมูลเพื่อนำเงินเข้ากระทรวงการคลังเท่านั้น แต่จะต้องเป็นการสร้างงานให้เกิดขึ้นจึงจะเป็นความสำเร็จในการสร้างระบบเศรษฐกิจของประเทศ จะต้องใช้คลื่นความถี่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ทำให้เกิดการจ้างงาน และเกิดระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ เพราะ 5G กำลังจะเปลี่ยนอุตสาหกรรมการผลิตไปเป็นระบบโรโบติก ดังนั้น กสทช.จะต้องพยายามเรียกคืนคลื่น 3.5 GHz จากไทยคม 5 และต้องใช้งบประมาณเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนด้วยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
พ.อ.เศรษฐพงค์กล่าวอีกว่า สำหรับการนำสายสื่อสารลงดินนั้น ขอให้มีการดำเนินการต่อไปในเมืองใหญ่ๆ ด้วย เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน นอกจากนี้ กสทช.จะต้องเตรียมงบประมาณเพื่อจัดหาอุปกรณ์ที่ทันสมัยมากกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยจะต้องมองการไกลไป 3-5 ปีข้างหน้า ทั้งเรื่องการควบคุมคลื่นความถี่ และการตรวจสอบความแรงของคลื่นความถี่ที่มีความแรงเกินไป เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับประชาชน เนื่องจากในอนาคตการตรวจสอบความปลอดภัยให้กับประชาชน รวมถึงการโจมตีไซเบอร์จะเปลี่ยนรูปแบบไปอย่างมากเพราะการมาของ 5G ขณะที่การใช้เงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะนั้น ที่ผ่านมาอาจมีปัญหาจากคนที่มองเข้ามาว่ากองทุนนี้อาจเกิดประโยชน์ แต่ กสทช.เองซึ่งวัตถุประสงค์ของกองทุนคือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อความปลอดภัยของประชาชน ความมั่นคงของประเทศ กสทช.ต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาให้การใช้งบประมาณมีความอ่อนตัวมากกว่าที่เป็นอยู่ เนื่องจากเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การที่ กสทช.อนุมัติโครงการล่าช้าไป 1-2 ปี อาจทำให้โครงการนั้นๆ มีความโบราณ ไม่ทันสมัยที่จะตอบสนองความต้องการของประชาชน
ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.ชี้แจงว่า เรื่องการประมูล 5G จะมีการนำเข้าที่ประชุม กสทช. และจะมีการเคาะประมูลในวันที่ 16 ก.พ. 63 จากนั้นเดือนมี.ค. 63 จะมีการติดตั้งสถานี และในเดือน ส.ค.จะเปิดให้บริการในพื้นที่ EEC ก่อน สำหรับเรื่องการนำสายสื่อสารลงใต้ดินนั้น ยืนยันว่า กสทช.ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยพื้นที่ที่มีท่อใต้ดินของทีโอทีอยู่แล้วเราได้นำลงดินหมดแล้ว เห็นได้จากถนนพหลโยธินที่เราได้ทำเสร็จแล้ว แต่ปัญหาที่พบคือ เวลาจะนำสายสื่อสารลงดินจะต้องให้ผู้ประกอบการมาชี้สายของตัวเอง เพราะถ้าหากมีการตัดสายผิดอาจจะกระทบต่อการใช้บริการของประชาชนได้ เราจึงต้องประสานไปยัง กทม. สตช. และผู้ประกอบการ เพื่อให้มาชี้จุดสายสื่อสารของตัวเอง อย่างไรก็ตาม กระทรวงดีอีเอสได้อนุมัติให้ กทม.ดำเนินการสร้างท่อร้อยสายในกรุงเทพฯ ทั้งหมดต่อจากทีโอที ดังนั้น ต่อจากนี้ไปจะเป็นระยะต่อไปที่ กสทช.จะดำเนินการ โดย กทม.กำหนดว่า จะดำเนินการทั้งหมด 2,400 กิโลเมตรได้เสร็จสิ้นใน 2 ปี แต่ในตรอกซอกซอยนั้น เนื่องจากพื้นที่แคบ ไม่สามารถขุดเจาะเพื่อนำสายลงดินได้ เราจะดำเนินการจัดระเบียบสายเพื่อให้เกิดความสวยงามแทน ส่วนการคุ้มครองผู้บริโภคนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าบริการมือถือ หรือการใช้งานอินเทอร์เน็ต สิ่งที่ กสทช.กังวลคือ การขยายโครงข่ายออกไปในขณะนี้ ที่คลื่นความถี่ขยับเข้าไปใกล้บ้านเรือนประชาชนมากขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชแน่นอน ดังนั้น เราจะติดตามว่าคลื่นที่ปล่อยออกมานั้นสอดคล้องกับมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้หรือไม่