รมว.ทรัพย์เผยจ่อเสนอแก้ พ.ร.บ.ป่าไม้เข้า ครม.สัปดาห์หน้า เข้าทางใครปลูกไม้มีค่า 58 ชนิดที่ดินตัวเองเตรียมเป็นเศรษฐี
วันนี้ (1 ส.ค.) เวลา 11.50 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเตรียมเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ในมาตรา 7 เพื่อให้ประชาชนที่ปลูกไม้ยืนต้นมูลค่าสูงในที่ดินกรรมสิทธิ์ หรือพื้นที่ของตนเอง สามารถตัดไม้ไปขายได้หรือสามารถเปลี่ยนแปลงเป็นเงินได้ ซึ่งต้องเป็นต้นไม้ตามบัญชีท้ายกฎหมายว่าด้วยสวนป่าจำนวน 58 ชนิด เช่น ไม้สัก ไม้พะยูง ชิงชัน ประดู่ มะค่า ตะเคียน สะเดา นางพญาเสือโคร่ง ฯลฯ ว่าคนที่มีต้นไม้มีค่าอยู่ในครอบครองก็อยากจะได้ประโยชน์จากต้นไม้นั้น ทั้งนี้ แต่เดิมทางกระทรวงพบว่ามีคนไม่ดีทำไม้เถื่อนจึงต้องกำหนดเป็นไม้หวงห้าม เช่น ไม้พะยูงอยู่ในพื้นที่บ้านใครแล้วถูกตัดก็จะถือว่ามีความผิด ดังนั้นจึงต้องขอปลดล็อกตรงนี้ โดยทางกระทรวงเตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้าเพื่อขอยกเลิกมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 โดยเรื่องดังกล่าวผ่านขั้นตอนการพิจารณาของกระทรวงหมดแล้ว รวมทั้งผ่านการทำประชาพิจารณ์ของประชาชนเรียบร้อยแล้วด้วย
“ถ้าเรื่องนี้ผ่าน ไม้มีค่าในที่ดินกรรมสิทธิ์ก็จะเป็นประโยชน์ทางทรัพย์สินของเจ้าของ สามารถขายได้ส่วนรายละเอียดในกติกาเรื่องการรับรองไม้ต่างๆ นั้นจะอยู่ในรายละเอียดต่อไป ประชาชนหากมีที่ดินก็สามารถปลูกเอาไว้เพื่อเป็นเงินออมในอนาคต เพราะอีก 20-30 ปีข้างหน้าจะมีมูลค่าสูง ดีกว่าการหยอดกระปุก เพราะกระปุกไม่แตก ปลูกให้เป็นทรัพย์สินได้ แต่มูลค่าของไม้แต่ละชนิดจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด และตลาดจะเป็นตัวกำหนดมูลค่าของต้นไม้ชนิดนั้นๆ ดังนั้นใครที่มีที่ดินจำนวนมากก็น่าจูงใจให้ปลูกไม้มีค่ากันมากๆ” พล.อ.สุรศักดิ์กล่าว
เมื่อถามว่าทำไมจึงไม่มีการกำหนดราคากลางของไม้มีค่าเอาไว้ พล.อ.สุรศักดิ์กล่าวว่า ราคากลางจะเป็นไปตามกลไกตลาด เช่น องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ซึ่งตลาดกลางรับซื้อไม้สักอยู่แล้วในปัจจุบัน โดยไม้พะยูงเป็นไม้ที่มีราคาสูงที่สุด