xs
xsm
sm
md
lg

ครม.เห็นชอบแก้ พ.ร.บ.ป่าไม้ ปลูกสัก-พะยูง ในที่ดินกรรมสิทธิ์ของตนเอง-ตัดขายได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ครม.ไฟเขียวแก้ พ.ร.บ.ป่าไม้ ม.7 ให้สิทธิ์ชาวบ้านปลูกสัก-พะยูง ในที่ดินกรรมสิทธิ์ของตนเอง-ตัดไม้ขายได้ ไม่ต้องขออนุญาต

วันนี้ (7 ส.ค.) เวลา 13.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษาประจำ รมต.ประจำสำนักนายกฯ แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติหลักการการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป่าไม้ มาตรา 7 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ โดยมีสาระสำคัญคือ แก้ไขให้ไม้ทุกชนิดในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครอง เช่น ที่ดินที่มีโฉนด, น.ส.3, น.ส.3ก., น.ส.3 ข, ใบจอง, น.ส.2, ส.ค.1 ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่เป็นไม้หวงห้าม และการทำไม้ไม่ต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่อีกต่อไป สำหรับการแก้ไข พ.ร.บ.ป่าไม้ มาตรา 7 ครั้งนี้ จะทำให้ประชาชนมีรายได้ที่มั่นคงจากการประกอบอาชีพทำไม้ปลูกป่าเศรษฐกิจ ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศไทยดีขึ้น และในอนาคตใครที่มีที่ดิน สามารถปลูกไม้มีค่าในที่ดินของตนเองได้ และถ้าไม้โตแล้วอยากจะตัดไปขาย ก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่แล้ว หรืออยากจะเอาไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันก็สามารถทำได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ ปี 2484 มาตรา 7 ได้กำหนดชนิดไม้หวงห้ามไว้ดังนี้ คือ ไม้สัก, ไม้ยาง, ไม้ชิงชัน, ไม้เก็ดแดง, ไม้อีเม่ง, ไม้พะยูงแกลบ, ไม้กระพี้, ไม้แดงจีน, ไม้ขะยูง, ไม้ซิก, ไม้กระซิก, ไม้กระซิบ, ไม้พะยูง, ไม้หมากพลูตั๊กแตน, ไม้กระพี้เขาควาย, ไม้เก็ดดำ, ไม้อีเฒ่า และไม้เก็ดเขาควาย โดยกำหนดให้ไม่ว่าจะขึ้นอยู่ที่ใดในราชอาณาจักร ซึ่งรวมถึงที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ หรือมีสิทธิครอบครอง จะต้องถูกควบคุมโดย พ.ร.บ.ป่าไม้ หากจะทำการตัด ฟัน กาน โค่น ลิดเลื่อย ผ่า ถาก ทอน ขุด ชักลาก จะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ส่งผลให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกในการตัดและเคลื่อนย้ายไม้ เนื่องจากขั้นตอนต่างๆ ตามระเบียบและกฎหมายมีความซับซ้อนและยุ่งยาก ทำให้ประชาชนจำนวนมากขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ มีอุปสรรคในการปลูกไม้ไว้ใช้สอย หรือเพื่อการค้า


กำลังโหลดความคิดเห็น