xs
xsm
sm
md
lg

กกต.มีมติเลือก “อิทธิพร” เป็นประธาน วิป สนช.เชื่อไม่มีปัญหาตีความในภายหลัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อิทธิพร บุญประคอง (แฟ้มภาพ)
ประชุม กกต. 5 คนเดินหน้าเลือกประธานเคาะชื่อ “อิทธิพร บุญประคอง” ด้านวิป สนช. ยัน เลือกประธานกกต.ได้ แม้ไม่ครบ 7 คน เชื่อไม่มีปัญหาตีความในภายหลัง



วันนี้ (31 ก.ค.) เวลา 15.00 น. ได้มีการประชุมว่าที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 5 คน ประกอบด้วย นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ นายอิทธิพร บุญประคอง นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี และ นายปกรณ์ มหรรณพ เพื่อทำการคัดเลือกตำแหน่งประธาน กกต. โดยมีมติเลือก นายอิทธิพร ให้ดำรงตำแหน่งประธาน กกต. ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้ สำนักงานเลขาวุฒิสภาจะแจ้งผลการคัดเลือกให้ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทราบ เพื่อดำเนินการนำความขึ้นกราบบังคมทูลโปรดเกล้าฯแต่งตั้งประธาน และ กกต.ต่อไป

สำหรับประวัติของ นายอิทธิพร เคยเป็นอดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และอดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนย่า และกรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ เป็น กกต.จากการสรรหา และได้รับการคัดเลือกจาก สนช.ด้วยคะแนนเสียง 186 คะแนน มากที่สุดในบรรดา กกต.ทั้ง 5 คน

ด้าน นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษก วิป สนช. แถลงหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมได้เชิญ นายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ.ชี้แจงประเด็นข้อกฎหมายที่ถกเถียงกันเกี่ยวกับการเลือกประธาน กกต.ว่า สามารถทำได้หรือไม่ ในกรณีที่ได้ว่าที่ กกต. 5 คน ยังไม่ครบก็คงยังไม่พอ 7 คน ซึ่งความเห็นของ กรธ.สอดคล้องกับ สนช.ที่เห็นว่า ว่าที่ กกต. ที่ผ่านความเห็นชอบของ สนช. 5 ท่านสามารถเลือกประธาน กกต.ได้ตามมาตรา 12 วรรค 9 โดยมีการเทียบเคียงกับการเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 206 ที่บัญญัติว่า

“ถ้ามีผู้ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาจํานวนไม่น้อยกว่าเจ็ดคน ให้ผู้ได้รับความเห็นชอบเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญแล้วแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบโดยไม่ต้องรอให้มีผู้ได้รับความเห็นชอบครบเก้าคน และเมื่อโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งแล้ว ให้ศาลรัฐธรรมนูญดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจต่อไป พลางก่อนได้ โดยในระหว่างนั้น ให้ถือว่าศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเท่าที่มีอยู่”

อีกทั้ง กรธ.ซึ่งเป็นผู้ร่างกฎหมาย ยืนยัน เจตนารมณ์ของกฎหมายว่าในมาตรา 12 วรรค 9 ที่ระบุว่า “เมื่อมีผู้ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาแล้ว หากเป็นกรณีที่ประธานกรรมการพ้นจากตําแหน่งด้วย ให้ผู้ได้รับความเห็นชอบประชุมร่วมกับกรรมการซึ่งยังไม่พ้นจากตําแหน่ง ถ้ามีเพื่อเลือกกันเองให้คนหนึ่ง เป็นประธานกรรมการแล้วแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบ ในกรณีที่ผู้ซึ่งวุฒิสภาให้ความเห็นชอบยังได้ ไม่ครบจํานวนที่ต้องสรรหาหรือคัดเลือก แต่เมื่อรวมกับกรรมการยังดํารงตําแหน่งอยู่ ถ้ามีจํานวนถึงห้าคน ก็ให้ดําเนินการประชุมเพื่อเลือกประธานกรรมการได้ และเมื่อโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งแล้ว ให้คณะกรรมการดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจต่อไปพลางก่อนได้ โดยในระหว่างนั้นให้ถือว่า คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่ และให้ดําเนินการสรรหาหรือคัดเลือกเพิ่มเติมให้ครบ ตามจํานวนที่ต้องสรรหาหรือคัดเลือกต่อไปโดยเร็ว” นั้น สามารถตีความได้ 2 ทาง คือ คำว่าหากเป็นกรณีแสดงให้เห็นว่า จะเป็นกรณีที่ยังไม่เคยมีประธาน กกต. หรือมีประธาน กกต. พ้นจากตำแหน่งไปแล้วก็ได้ ซึ่งในกรณีนี้เป็นการเลือกประธาน กกต. ในขณะที่ ยังได้ กกต. ไม่ครบ 7 คน ที่ประชุมจึงเห็นว่า ว่าที่ กกต.ทั้ง 5 คน สามารถเลือกคนใดคนหนึ่งเป็นประธาน กกต.ได้ และ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะเป็นผู้นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ โดยมั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาให้ตีความในภายหลัง


กำลังโหลดความคิดเห็น