สนง.เลขาวุฒิฯ แจง กกต.ลงคะแนนลับเลือกประธาน ไม่ห้ามเลือกตัวเอง “อิทธิพล” ขอให้ข่าวหลังโปรดเกล้าฯ ชำแหละเหตุได้รับเลือกเพราะอายุน้อยสุดอยู่ครบวาระ 7 ปีได้ แถมชำนาญอังกฤษเพื่อชี้แจง ตปท. ได้รับความเชื่อมั่น
วันนี้ (31 ก.ค.) นายนัฑ ผาสุข เลขาธิการสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา กล่าวภายหลังผลการคัดเลือกตำแหน่งประธาน กกต.ว่า กระบวนการเลือกกันเองของว่าที่ กกต.นั้น เป็นไปโดยการลงคะแนนลับ โดยให้สิทธิ์ว่าที่ กกต.ทุกคน เขียนรายชื่อบุคคลที่ตนเองต้องการให้ดำรงตำแหน่งประธาน กกต. ลงบนบัตรออกเสียง และไม่จำกัดสิทธิบุคคลที่จะออกเสียงเพื่อเลือกตนเองเป็นประธาน กกต. หลังจากที่รับทราบว่า นายอิทธิพร ได้รับเลือกเป็นประธาน กกต.แล้ว ว่าที่ กกต. ได้หารือร่วมกันถึงแนวทางการทำงานร่วมกันจากนี้อีก 7 ปี รวมถึงการจัดการเลือกตั้งที่ต้องรับบทบาทหลังจากนี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อรับทราบผลดังกล่าวแล้ว ทางเจ้าหน้าที่ได้ ทำลายบัตรออกเสียงแล้ว สำหรับขั้นตอนต่อไป จะทำหนังสือกราบเรียนถึง นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ในวันที่ 31 ก.ค. เพื่อนำรายชื่อ ประธาน กกต. และ กกต.ขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป ส่วนการเตรียมความพร้อมเรื่องการเลือกตั้งจากนี้ จะเป็นหน้าที่ของสำนักงาน กกต. ที่ต้องดูแล หลังจากขั้นตอนดังกล่าวถือว่าเสร็จสิ้นหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาแล้ว
ด้าน นายอิทธิพร บุญประคอง ว่าที่ประธาน กกต. ปฏิเสธให้สัมภาษณ์ โดยระบุเพียงสั้นๆ ว่า จะขอให้ข่าวภายหลังจากได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นประธาน กกต.แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเหตุผลที่นายอิทธิพรได้รับเลือกเป็นประธาน กกต. เนื่องจากนายอิทธิพร มีอายุเพียง 62 ปี สามารถดำรงตำแหน่งประธาน กกต. จนครบวาระ 7 ปี เมื่อเทียบกับว่าที่ กกต. คนอื่น เช่น นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี อายุ 65 ปี หรือ นายธวัชชัย เทอดเผ่าไท ที่อายุ 66 ปี ที่เป็นแคนดิเดตได้รับการคาดหมายจะได้รับเลือกเป็นประธาน กกต.ก่อนหน้านี้ ซึ่งทั้งสองคนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่กกต. จนครบ 7 ปีรวดเดียวได้ ต้องพ้นวาระเมื่ออายุครบ 70 ปี นอกจากนี้ นายอิทธิพรยังมีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษที่มีความจำเป็นต้องนำไปชี้แจงและประสานงานกับนานาชาติเกี่ยวกับเรื่องการเลือกตั้งของไทย เพราะเคยเป็นอดีตเอกอัครราชทูตหลายประเทศ รวมถึงยังมีภาพลักษณ์ที่ได้รับความเชื่อมั่นจากสังคม นอกจากเคยเป็นเอกอัครราชทูตหลายประเทศแล้ว ยังเคยเป็นทีมงานของประเทศไทยต่อสู้คดีปราสาทเขาพระวิหาร ต่อศาลโลก เมื่อปี 2553 ด้วย