กระท่อนกระแท่นมาตามลำดับ การสรรหา “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” (กกต.) ที่แม้ที่ประชุม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะลงมติประทับตรารับรองมาได้ 5 จาก 7 คน ในการลงมติรอบที่ 2 หลังจากที่เคยลงมติล้มกระดานไปเมื่อหลายเดือนก่อนมาหนหนึ่งโดยว่าที่ 5 กกต.ชุดแรก ประกอบไปด้วย “อิทธิพร บุญประคอง” อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ที่ได้รับเสียงเห็นชอบ 186 เสียง ไม่เห็นชอบ 10 เสียง
“ปกรณ์ มหรรณพ” ผู้พิพากษาศาลฎีกา ได้รับเสียงเห็นชอบ 185 เสียง ไม่เห็นชอบ 10 คะแนน
“ธวัชชัย เทอดเผ่าไทย” อดีตผู้ว่าราชการหลายจังหวัด และอดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้รับเสียงเห็นชอบ 184 เสียง ไม่เห็นชอบ 12 เสียง
“ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี” ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ได้รับเสียงเห็นชอบ 184 เสียง ไม่เห็นชอบ 11 เสียง
และ “สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์” อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้รับเสียงเห็นชอบ 178 เสียง ไม่เห็นชอบ 20 เสียง
ขณะที่ “สมชาย ชาญณรงค์กุล” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และ “พีระศักดิ์ หินเมืองเก่า” อดีตผู้ว่าราชการหลายจังหวัด ไม่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม สนช.
โดยมีการระบุว่า กรณีของ "สมชาย" นั้นเป็นผลมาจาก “คดีติดตัว” ถูกฟ้องร้องอยู่ในชั้น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง กรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่สมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ในสมัยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนสหกรณ์ ส่วน "พีระศักดิ์" นั้นถูกตั้งแง่เรื่อง "ความเป็นกลางทางการเมือง" เนื่องจากมีการระบุถึงสายความสัมพันธ์กับ "ขาใหญ่แห่งแดนอีสานใต้" ได้มาเบื้องต้น 5 คน ก็ถือว่าเพียงพอต่อการเดินหน้ากระบวนการแต่งตั้งว่าที่ กกต.อย่างเป็นทางการ ตามบทบัญญัติ "วรรค 9" ของ "มาตรา 12" ใน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 ที่ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า "...ในกรณีที่ผู้ซึ่งวุฒิสภาให้ความเห็นชอบยังได้ ไม่ครบจำนวนที่ต้องสรรหาหรือคัดเลือก แต่เมื่อรวมกับกรรมการซึ่งยังดำรงตำแหน่งอยู่ ถ้ามี มีจำนวนถึงห้าคน ก็ให้ดำเนินการประชุมเพื่อเลือกประธานกรรมการได้ และเมื่อโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งแล้ว ให้คณะกรรมการ ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไปพลางก่อนได้ โดยในระหว่างนั้น ให้ถือว่า คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่ และให้ดำเนินการสรรหาหรือคัดเลือกเพิ่มเติมให้ครบ ตามจำนวนที่ต้องสรรหาหรือคัดเลือกต่อไปโดยเร็ว..."
โดยขั้นตอนต่อไป ทั้ง 5 ราย จะนัดประชุมกันในวันที่ 31 ก.ค.นี้ เพื่อลงมติเลือกผู้ทำหน้าที่ “ประธาน กกต.” ก่อนที่ “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธาน สนช. ที่จะนำรายชื่อกกต.ที่ได้รับความเห็นชอบ 5 คน ขึ้นทูลเกล้าฯ ไปก่อน ส่วนอีก 2 ราย อาจจะใช้วิธีการรับสมัครเข้ารับการสรรหาเช่นเดิม หรือใช้ช่องทาบทามผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมมาเป็น กกต.ที่กฎหมายเปิดไว้ให้
แม้กระบวนการจะล่วงเลยมาถึงขณะนี้ แต่ก็ยังมี “เครื่องหมายคำถาม” ตามมามากมายๆเกี่ยวกับความเหมาะสมของ “5 ว่าที่ กกต.ชุดใหม่” โดยเฉพาะเรื่องผลงานหรือประสบการณ์เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ที่ต้องบอกว่าทั้ง 5 รายเท่ากับ “ศูนย์” ซึ่งไม่สอดคล้องกับบทบาทของ กกต.ชุดใหม่ ที่ได้รับ "อำนาจเพิ่ม" จาก พ.ร.ป.กกต.ฉบับใหม่ อย่างเหลือล้น อันจะมีบทบาทสำคัญในการ "ชี้เป็นชี้ตาย" ผลการเลือกตั้งครั้งต่อไป อาทิ ให้ใบเหลือง-ใบแดง รวมทั้งชงเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค และตัดสิทธิ์การเลือกตั้งได้ด้วย
อีกทั้งกระบวนการสรรหายังทำให้แต่ละรายสะบักสะบอมกันถ้วนหน้า จนทำให้ “ไม่สง่างาม” อย่างที่ควรจะเป็น ไม่สมกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่กำหนดคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ อันหมายรวมถึง กกต.ไว้แบบเวอร์วัง เป็น "องค์กรมหาเทพสเปกไฮเอนด์" พร้อมขีดเส้นใต้หนาๆไว้ด้วยว่า ต้องวางตัวเป็นกลาง และไม่ฝักฝ่ายเอนเอียงทางการเมือง
แต่นั่นก็เป็นแค่ "ตัวหนังสือในกระดาษ" ที่ห่างไกล "ความเป็นจริง" อย่างสุดกู่เอากันตั้งแต่ข้อครหา “ความเป็นกลางทางการเมือง” ที่แค่ดูผลการลงมติของ สนช. ก็สะท้อนว่ายังมี “ใบสั่งผู้มีอำนาจ” เจือสมอยู่อย่างมาก ทำให้ผลโหวตออกมาเป็นไป "ตามโผ" แบบไม่ผิดเพี้ยน สอดรับกับ "ช่วงคะแนน"ทั้ง "เสียงเห็นชอบ" ในฝั่งผู้สมหวัง 178-186 คะแนน กับ "เสียงไม่เห็นชอบ" ของฝั่งคนอกหัก ที่ได้ 168 และ 193 เสียงนั้น ถือว่ามีความใกล้เคียงกันมาก จนสันนิษฐานกันว่ามี "กระบวนการล็อบบี้" เข้ามาแทรกแซงหรือไม่
แล้วยังตรงตาม "ลางสังหรณ์" ของ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ระบุไว้แล้วว่า "ได้แค่ 5 คน ก็สามารถทำงานได้"
จึงมี "นัยสำคัญ" บ่งชี้ว่า น่าจะมี "ใครบางคน" กดรีโมต จนทำให้คะแนนเสียงออกมาในระนาบใกล้เคียงกัน และก็คงหนีไม่พ้น "บิ๊ก คสช." ไม่คนใด ก็คนหนึ่ง
หรือในขณะที่ “พีระศักดิ์” ถูกตีตกไปในข้อหา “ไม่เป็นกลางทางการเมือง” แต่ว่าที่ กกต.รายอื่นๆก็มีร่องรอยการแอบอิงขั้วการเมืองอยู่ไม่น้อยไปกว่าผู้ไม่ได้ไปต่อ ทั้ง “ธวัชชัย” ที่ช่วงมีตำแหน่งระดับสูงในกระทรวงมหาดไทย ก็มักกระเด็นกระดอนไปตามการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง หลังเกษียณอายุราชการ ก็ยังได้มาเป็นสมาชิก สปท. ที่สำคัญครั้งหนึ่ง “พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา” รมว.มหาดไทย ก็เคยตั้งเป็นคณะทำงานหน้าห้องชุดเดียวกับ “ประชา เตรัตน์” อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่เคยถูกที่ประชุม สนช.ตีตกไปในการสรรหา กกต.รอบแรก
จึงจะเห็นได้ว่า “ธวัชชัย” ฉาบเคลือบไปด้วย “ฝ่ายการเมือง” มากเสียกว่า “พีระศักดิ์” ด้วยซ้ำไปรายอื่นๆที่มีข้อร้องเรียนเรื่องฝักใฝ่การเมือง ก็มีอย่างเช่น “สันทัด” ที่แม้ภาพจะเป็นอาจารย์นักวิชาการ แต่ก็เที่ยวป่าวประกาศว่า เป็นคนของ “บิ๊ก สนช.” ที่ส่งเข้าประกวด หรืออย่าง “ฉัตรไชย” เองก็เคยเป็นหนึ่งใน 63 ตุลาการที่ลงชื่อคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรมเมื่อสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อันเป็นพรมแดงปูทางให้ทหารเข้ามายึดอำนาจ
ในรายของ “ฉัตรไชย” ก็เริ่มมีข่าวว่า “ผู้ใหญ่ในบ้านเมือง” ไม่ค่อยสบายใจกับบทบาทในอดีต ที่หลีกเลี่ยงผลกระทบถึงบทบาท “กรรมการ” ในครั้งนี้ไปไม่ได้ และอาจนำมาซึ่งความไม่พอใจของบางขั้วการเมือง ที่จะเป็น “ชนวน” ความขัดแย้งอย่างรุนแรงในสังคมอีกครั้งขณะที่ข้อหา “มีคดีความติดตัว” ที่ทำให้ “อธิบดีสมชาย” ไปไม่ถึงฝั่งฝันนั้น ก็มีรายงานว่า ทั้ง 5 รายที่ได้รับเลือกนั้นก็มีคดีความ-เรื่องถูกร้องเรียนไม่น้อยไปกว่ากัน โดยเฉพาะรายของ “ธวัชชัย” ที่มีคดีถูกร้องเรียนยาวเป็นหางว่าว ทั้งเรื่องทุจริตสมัยที่เป็นผู้ว่าฯลำปาง ตลอดจนถูกฟ้องร้องเป็นจำเลยในคดีของศาลจังหวัดสระบุรี มากถึง 12 คดี ผลพวงจากสมัยที่เป็นผู้ว่าฯสระบุรี ที่มีทั้งเรื่องความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ พยายามฆ่าและยาเสพติด ซึ่ง “ธวัชชัย” ปฏิเสธดื้อๆกับ คณะกรรมการสรรหา ว่า ไม่เคยทราบ หรือได้รับแจ้งว่าถูกฟ้องร้องคดี และไม่ได้ขึ้นศาลแต่อย่างใด
น่าเหลือเชื่อว่า ข้อแก้ต่างของ “ธวัชชัย” ฟังขั้น ในขณะที่ “สมชาย” ร่วงไปไม่เป็นท่า
ที่ดูจะหนักข้อที่สุดน่าจะเป็นเรื่อง “ความไม่สง่างาม” ไม่สมกับ "องค์กรมหาเทพสเปกไฮเอนด์" ที่ต้องมาทำหน้าที่ “กรรมการ” อันกมายความว่าจะมี “รอยด่างพร้อย” ให้เป็นช่องโจมตี หรือถูกจุดประเด็นที่อาจจะขัดกฎหมายขึ้นมาในอนาคตไม่ได้
ว่ากันว่าในชั้น คณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กกต. ของ สนช. มีการแจ้ง "ข้อมูลเชิงลบ" ของ 5 ว่าที่ กกต. เข้ามาอย่างล้นหลาม ซึ่งดูเหมือนกรรมาธิการฯและ สนช.ก็เลือกที่จะรับฟังเฉพาะในส่วนของ 2 รายที่ตีตกไป และก็ “ปล่อยผี” ที่เหลือเข้ามา
หรือที่น่ากลัวจะเป็นปัญหาข้อขัดแย้งทางกฎหมายในอนาคต ผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายยังมี "ตำหนิ" อยู่ไม่น้อย อย่างคำถามที่ว่า 2 ตัวแทนจากสายศาล ที่มีชื่อในชุดที่ถูกล้มกระดานไป ยังกลับเข้ารับการสรรหาได้อีกหรือไม่
ตามบทบัญญัติ "วรรค 8" ของ "มาตรา 12" ใน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 ที่ระบุไว้ว่า “ในกรณีที่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการสรรหาหรือคัดเลือกรายใด ให้ดําเนินการสรรหา หรือคัดเลือกบุคคลใหม่แทนผู้นั้น แล้วเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป โดยผู้ซึ่งไม่ได้รับความเห็นชอบ จากวุฒิสภาในครั้งนี้จะเข้ารับการสรรหาในครั้งใหม่นี้ไม่ได้”
เพราะต้องไม่ลืมว่า หนก่อน สนช.ไม่ได้ลงมติล้มกระดานว่าที่ กกต.เฉยๆ แต่มีการโหวตเป็นรายบุคคล และมีคะแนนบันทึกชัดเจนว่า "ฉัตรไชย" ไม่ได้รับความเห็นชอบ 128 คะแนน ได้รับความเห็นชอบ 46 คะแนน ส่วน "ปกรณ์" ไม่ได้รับความเห็นชอบ 130 คะแนน ได้รับความเห็นชอบ 41 คะแนน แต่มาหนนี้ก็มี “ปาฏิหาริย์” ทำให้ สนช. โหวตแบบกลับตาลปัตรเห็นชอบทั้ง 2 คน
ทั้งนี้ยังติดค้างปม “คัดเลือกอย่างเปิดเผย” ในฐานะ ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 2 ราย ที่แม้ว่าที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จะได้แก้ไขระเบียบศาลฎีกาว่าด้วยการคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็น กกต. พ.ศ. 2561 ใหม่ เพื่อให้ใกล้เคียงกับเงื่อนไข “ลงมติคัดเลือกโดยเปิดเผย” มากที่สุด แต่ในความจริงกลับยังมีการลงตะแนนแบบไม่เปิดเผยผู้ลงคะแนนเลือก โดยเลี่ยงไปใช้วิธีการขานตัวเลขแทนผู้ลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ก่อนที่จะให้ทำการโหวตแบบปิดลับ มีเพียงการกำหนดให้เลขานุการศาลฎีกา เก็บรักษาบัตรลงคะแนนไว้ไม่น้อยกว่า 1 ปี เพื่อให้ “คนใน” สามารถทำเรื่องขอทราบผลการลงคะแนนได้เท่านั้น
จะเห็นได้ว่าว่าที่ กกต.แทบทุกรายดูจะมีปัญหาทั้งหมด แต่เมื่อมาถึงกระบวนการนี้แล้ว ขั้นต่อไปก็จะเป็นการที่ทั้ง 5 คนมาสุมหัวเลือก “ประธาน กกต.คนใหม่” โดยที่มาแรงเกินหน้าเพื่อน คงหนีไม่พ้น “ท่านเปาฉัตรไชย” ที่อาจนอนมาตามธรรมเนียมปฏิบัติที่มักจะให้ “สายตุลาการ” ทำหน้าที่ประธาน ทั้งในแง่ความเชี่ยวชาญกฎหมาย รวมไปถึงภาพลักษณ์ความเป็นกลาง อีกทั้งยังมีความอาวุโสเกินหน้าเพื่อนร่วมทีมรายอื่นๆ
แต่หากย้อนดูความข้างต้น ก็จะอาจจะพิจารณาได้เองว่า “ฉัตรไชย” ตอบโจทย์หรือสง่างามเพียงพอ ที่จะเป็นประธาน กกต.หรือไม่ในขณะที่คู่แคนดิเดตที่เบียดมาห่างๆ ตอนนี้ก็เป็น “ธวัชชัย” ที่ถือเป็นเพียงคนเดียวที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง และอาจจะแรงหนุนพิเศษจากคอนเนคชั่น “บิ๊ก คสช.” ที่เคยไหว้วานหางานให้ทำเมื่อช่วงหลังเกษียณ
อย่างไรก็ดีหากมองในมิติประเพณีปฏิบัติที่มักจะให้เกียรติผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดในการโหวต จะถือว่าปิดประตูตายสำหรับ “ฉัตรไชย - ธวัชชัย” ไปได้เลย ตามออปชั่นนี้ “ทูตปุ๊” อิทธิพร บุญประคอง จะมีภาษีดีที่สุด
ในยุคที่การสรรหาบุคคลในองค์กรอิสระหรือองค์กรสำคัญต่างๆ “ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ” ดังที่ “ประธานพรเพชร” ในฐานะคณะกรรมการสรรหา กกต. ยอมรับตรงๆว่า "การล็อบบี้เป็นเรื่องธรรมชาติ"
คำสารภาพของ “ประธานพรเพชร” ก็ยิ่งทำให้ภาพขององค์กรที่ต้องทำหน้าที่ “ผู้คุมกฎ-กรรมการ” ยิ่งแปดเปื้อนไปกันใหญ่ อีกทั้งยังจะมีแรงเสียดทานจาก “เกมล็อบบี้” ทั้งจากภายในว่าที่ กกต. หรือกระทั่งใบสั่งผู้มีอำนาจ ซึ่งย่อมกระทบต่อความเป็นกลางในการทำหน้าที่ “กรรมการ” หรือ “ผู้จัดการเลือกตั้ง” อย่างหลีกเลี่ยงไปไม่ได้เลย.