เผยวาระการประชุม สนช. วันที่ 12 ก.ค.โหวตเลือก 7 กกต.ชุดใหม่ หลังจากเคยโหวตคว่ำมาแล้วก่อนหน้านี้
วันนี้ (7 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภา ว่า ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันที่ 12 ก.ค. เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป มีวาระการพิจารณาที่สำคัญ คือ การให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) (ตามมาตรา 222 มาตรา 217 ประกอบมาตรา 204 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560) ภายหลังจากที่คณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กกต.ที่มี พล.อ.ไพชยนต์ ค้าทันเจริญ ประธาน กมธ.สามัญทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติฯ กกต. จำนวน 7 คน
ประกอบด้วย 1. นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 2. นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 3. นายอิทธิพร บุญประคอง อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และอดีตเอกอัครราชทูตกรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา และกรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ 4. นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า อดีต ผวจ.บุรีรัมย์ จ.ปทุมธานี จ.ระนอง จ.ชุมพร จ.นครศรีธรรมราช และ 5. นายธวัชชัย เทิดเผ่าไทย อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จำนวน 2 คน ได้แก่ นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และ นายปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งเป็นบุคคลเดิมที่ สนช. เคยลงมติไม่ให้ความเห็นชอบในการเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็น กกต. รอบที่ผ่านมา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ที่ประชุม สนช. วันที่ 22 ก.พ. ที่ผ่านมา ได้มีมติคว่ำ 7 กกต. ที่ได้รับการเสนอชื่อในรอบแรกมาแล้ว แม้ทุกคนจะมีคุณสมบัติครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก สนช. เห็นว่า งานของ กกต.ตามรัฐธรรมนูญใหม่มีภารกิจสำคัญเรื่องการเลือกตั้ง จึงอยากได้บุคคลมีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ในการทำงาน โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งสมาชิก สนช.ส่วนมากยังไม่เชื่อมั่นในฝีมือของผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้ง 7 คน ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของสาธารณชน และยังไม่เคยแสดงฝีมือการทำงานให้เป็นที่ประจักษ์ อีกทั้งในส่วนของผู้ได้รับการเสนอชื่อจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 2 คน อาจมีปัญหาเรื่องที่มาของการสรรหาได้ดำเนินการอย่างถูกต้องหรือไม่ แม้ สนช.จะได้รับหนังสือยืนยันจากศาลฎีกาว่ากระบวนการสรรหาดำเนินการอย่างถูกต้อง แต่ สนช.เกรงว่า จะมีผู้ไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยในภายหลัง ซึ่งจะเกิดความวุ่นวายตามมา ดังนั้น สนช.จึงอยากได้คนใหม่ที่มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และความตั้งใจที่ดีที่สุด จึงลงมติไม่เห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้ง 7 คน