เมืองไทย 360 องศา
เหมือนกับการ “ทำทาง” เอาไว้ล่วงหน้ามาอย่างต่อเนื่องหลายปี ที่มาเป้าหมายปลายทางในวันนี้กับการโยกย้ายนายทหารชั้นนายพลประจำปี 2561 ที่บังเอิญว่ามีระดับผู้บัญชาการเหล่าทัพพาเหรดเกษียณอายุพร้อมกัน ไล่เรียงกันมาตั้งแต่ตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ และ ผู้บัญชาการทหารอากาศ
ทุกตำแหน่งที่ว่ามาถือว่าน่าจับตาทั้งหมด เพราะสำคัญยิ่งยวดมีผลต่อทั้งรัฐบาล มีผลต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ต้องสิ้นสภาพไปตามกฎหมายหลังการเลือกตั้งและมีรัฐบาลชุดใหม่เกิดขึ้น
แต่ถึงอย่างไรสำหรับการเมืองไทยก็ต้องเน้นโฟกัสไปที่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกเป็นพิเศษ ที่ในปีนี้ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบัน จะเกษียณอายุราชการ และแม้ว่ายังไม่มีการสรุปโผโยกย้ายนายทหารของกองทัพบกกันอย่างเป็นทางการ แต่สำหรับ “ในวงการ” แล้วถือว่ารับรู้กันมาตั้งนานแล้วว่าใครจะถูกวางตัวให้ “รับไม้ต่อ”
และนาทีนี้คงไม่ปฏิเสธกันแล้วว่า “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกน่าจะได้รับการผลักดันขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่ เพื่อรักษาดุลอำนาจฝ่ายกอง
ทัพและฝ่ายการเมืองในอนาคตหลังการเลือกตั้งที่มีการออกแบบรองรับเอาไว้ล่วงหน้า ซึ่งหากไม่มีอะไรผิดพลาดออกนอกเส้นทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็น่าจะต้องกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกรอบอย่างน้อยในช่วง “เปลี่ยนผ่าน” ต่อเนื่องเป็นเวลา 4-5 ปีข้างหน้านี้
เมื่อเก้าอี้นายกฯถูกมองว่าล็อกเอาไว้แล้ว ก็ต้องมีการสร้างฐานค้ำยันเอาไว้อย่างดี มั่นคง และสำหรับแบ็กกราวนด์ของ “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ก็เดินมาตามไลน์ที่ทำทางเอาไว้ล่วงหน้าแล้วที่เริ่มเห็นชัดเจนตั้งแต่ดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 “คุมกำลังรักษาพระนคร” ที่ต้องเป็นกำลังหลัก เลือกเฟ้นมาจาก “คนที่ไว้ใจได้จริงๆ” เมื่อเข้าไลน์ 5 เสือทัพบก ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ทุกอย่างก็ถือว่า“ชัวร์ร้อยเปอร์เซ็นต์”
ขณะเดียวกัน หากพลิกย้อนกลับไปในช่วง 6-7 ปีก่อน ตั้งแต่ยุคที่ยังเป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ที่ถือว่าเขาเริ่มมีบทบาทโดดเด่นที่สำคัญ คือ การออกโรงฟาดฟันกับพวก “ขบวนการล้มเจ้า” อย่างเข้มข้น ขณะเดียวกัน ยังมีบทบาทสำคัญในช่วงของการเกิดม็อบคนเสื้อแดงเครือข่าย “ระบอบทักษิณ” จนเป็นที่จับตามองตั้งแต่นั้นมา
แม้ว่าในวงการจะมองว่าเขาไม่ใช่สาย “บูรพาพยัคฆ์” แต่ถือว่านี่คือสาย “วงศ์เทวัญ” ของแท้ และมีการดำรงตำแหน่งเป็นไปตามคาดหมายที่ว่านี่จริงก็เหมือนกับการทลายกำแพงเดิมลงไปอย่างชัดเจนหลังจากที พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ที่มาจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการทหารบกก่อนหน้านี้
ที่ผ่านมา หากสังเกตให้ดีหลังจากได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานบอร์ดกองสลากในยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้ว หลังจากนั้น เหมือนกับว่าเขาจะ “เก็บตัว” เป็นพิเศษ ซึ่งในวงการก็คือความหมาย “รักษาเนื้อรักษาตัว” เอาไว้อย่างดี
อย่างไรก็ดี หากพิจารณากันทั้งในยุทธศาสตร์ทางทหารและทางการเมืองในอนาคตการวางตัว พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ถือว่าไม่ได้เหนือความคาดหมาย และหากพิจารณาจากเส้นทางและความเคลื่อนไหวในภารกิจสำคัญก็ต้องบอกว่านี่คือ “สายตรง” ของ “บิ๊กตู่” เป็นน้องรักที่ผลักดันกันมาแบบเปิดเผย และเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ใช่มาแบบข้ามห้วยข้ามหัว
นอกจากนี้ หากพิจารณาจากรายงานที่ปรากฏนอกเหนือจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่ ที่เป็น “ตท.20” นักเรียนเตรียมทหารรุ่นเดียวกันนี้ ยัง “กระจาย” ไปอยู่ในตำแหน่งหลักอื่นๆ ไล่เรียงกันไปตั้งแต่ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ รองปลัดกระทรวงกลาโหม (ตท.20) ที่คาดว่า จะได้เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เสนาธิการทหารบก (ตท.20) ที่คาดว่า จะได้ขึ้นเป็นรองผู้บัญชาการทหารบก พล.ท.กู้เกียรติ ศรีนาคา แม่ทัพภาคที่ 1 (ตท.20) ที่คาดว่า จะเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก รวมไปถึง พล.ต.ฉลองชัย ชัยยะคำ รองแม่ทัพภาคที่ 3 (ตท.20) ที่จะขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 3 รวมทั้ง พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพน้อยที่ 4 (ตท.20) จะขยับขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่ เป็นต้น
หากเป็นไปตามโผนี้ ถือว่าเตรียมทหารรุ่น 20 ขึ้นมาเป็นแผง กระจายกันไปคุมตำแหน่งหลักทั้งสิ้น และแน่นอนว่าส่วนสำคัญอาจเป็นเพราะจังหวะเวลา และสอง มีการผลักดันให้เข้ามาคุมกำลังหลัก เพื่อสร้างความสมดุลทั้งทางทหารและทางการเมืองในอนาคต ที่หลังจากสิ้นภาพของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หมดยุคของการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จอีกแล้ว และนี่ก็อาจเป็นคำตอบอีกด้านหนึ่งว่าทำไมถึง “พรึบกันยกแผง” และมีการจัดวางไว้รองรับการเกษียณของบรรดาผู้บัญชาการเหล่าทัพพร้อมกันแบบ “บิ๊กล็อต” ในปีนี้
ดังนั้น หากพิจารณากันว่าเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ไม่ว่าจะมาแบบ “คนนอก” หรือ “คนใน” ออกแบบมาสำหรับ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้วตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพก็ต้องจัดวางเอาไว้สำหรับคนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในวันข้างหน้าที่ต้องไหลต่อเนื่องกันไปอย่างน้อย 4-5 ปี และเมื่อพิจารณาจากแบ็กกราวนด์แล้วแม้ไม่ต้องโฟกัสไปที่ระดับยอดของกองทัพบกแบบเฉพาะเจาะจงก็พอมองออกได้เลยว่าเครือข่ายแม้วโงหัวขึ้นมายากนัก!!