“ปภ.” ได้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากรัฐบาลญี่ปุ่น ดันอีกรอบจัดซื้อ “โดรนปีกหมุน” สเปกเทพ ลำละ 2.5 แสน 20 เครื่อง เน้นภารกิจค้นหาและสำรวจพื้นที่ แจก ปภ.จังหวัด/ศูนย์ ปภ.เขต หลังรอบแรก มีผู้ยื่นเสนอประมูล และเสนอราคาเพีงรายเดียว ส่วน “กระบวนการซื้อ ฮ.ปีกหมุน 2 ลำ” 1,732 ล้าน ไม่ล้ม! ประมูลรอบ 2 ยังเดินหน้าต่อ
วันนี้ (19 ก.ค.) แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ได้เผยแพร่โครงการจัดซื้อจัดจ้าง “อากาศยานปีกหมุน ขนาดเล็กไร้คนขับ” จำนวน 20 ชุด ครั้งที่ 2 วงเงินงบประมาณ 4,996,225 บาท หรือชุดละ 249,881.25 บาท โดยประกาศครั้งที่ 2 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2561
ทั้งนี้ ปภ.ได้ยกเลิกโครงการจัดซื้อจัดจ้าง “อากาศยานปีกหมุน ขนาดเล็กไร้คนขับ” ไปแล้วครั้งหนึ่ง โดยประกาศ ณ วันที่ 14 มิ.ย.2561 หลังจากเมื่อวันที่ 23 พ.ค. ได้ประกาศประกวดราคา ด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์เมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา
“นายปิยะ วงศ์ลือชา รองอธิบดีปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ลงนามเพื่อยกเลิก เนื่องจากมีผู้ยื่นข้อเสนอประมูล และเสนอราคาเพีงรายเดียว ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 จึงยกเลิกประกาศและดำเนินการจัดหาใหม่”
มีรายงานว่า ปภ.ได้กำหนดราคากลาง โดยอ้างอิงจากบริษัท เอ็นเทค แอสโซซิเอท จำกัด, บริษัท เมดฟอร์ด ซายน์ จำกัด และ บริษัท พรีวาเลนซ์ เทคโนโลยี จำกัด เมื่อวันที่ 8 พ.ค. เป็นเงิน 5,000,000 บาท คิดเป็นชุดละ 250,000 บาท โดยงบประมาณทั้งหมด เป็นเงินคงเหลือภายใต้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่า (Non Project Grant Aid:NPGA) จากรัฐบาลญี่ปุ่น จำนวน 4,996,225 บาท
ทั้งนี้ ปภ. ระบุ ในแผนการซื้อว่า ปภ. มีบทบาทและภารกิจที่สำคัญเกี่ยวกับการจัดทำแผนแม่บท วางมาตรการส่งเสริมสนับสนุนการป้องกันบรรเทา และฟื้นฟูสาธารณภัย โดยเป็นองค์กรหลักในการบูรณาการการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อให้ประเทศไทยเป็นเมืองปลอดภัยน่าอยู่ โดยมีสำนักงาน ปภ. จังหวัด 76 แห่ง ศูนย์ ปภ. เขต รวม 18 ศูนย์เขต และวิทยาลัยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยวิทยาเขต 6 แห่ง กระจายอยู่ตามภาคต่างๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
“กอปรกับในปัจจุบันได้เกิดสาธารณภัย ขึ้นบ่อยครั้ง และบริเวณที่เกิดมีพื้นที่กว้างใหญ่ อากาศยานปีกหมุน ขนาดเล็กไร้คนขับ จึงมีความจำเป็นในการปฏิบัติงาน ดังนั้น เพื่อใช้ในภารกิจค้นหาและสำรวจพื้นที่ ทำให้สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว จึงมีความจำเป็นต้องจัดซื้ออากาศยานปีกหมุน ขนาดเล็กไร้คนขับ”
โดย สเปกของ “โดรน” เป็นแบบไม่น้อยกว่า 4 ใบพัด พร้อมติดตั้งกล้องถ่ายภาพ/กล้องถ่ายภาพ ความร้อน และชุดควบคุมการบิน/จอแสดงภาพ น้ำหนัก (รวมแบตเตอรี่) ไม่ตํ่ากว่า 1,500 กรัม ความเร็วสูงสุดในการไต่ระดับการบิน (Max Ascent Speed) ไม่น้อยกว่า 4 เมตรต่อวินาที ความเร็วสูงสุดขณะทำการบิน ไม่น้อยกว่า 8 เมตรต่อวินาที ระยะการบินไกลสุด (Max Flight Distance) ไม่น้อยกว่า 800 เมตร ระยะเวลาการบิน (ต่อแบตเตอรี่ 1 ก้อน) ไม่น้อยกว่า 20 นาที
มีระบบป้องกันการขน หรือ Obstacle Sensing System แบตเตอรี่เป็นแบบประจุไฟใหม่ได้ (Rechargeable Battery) ขนิด Lithium polymer (LiPo)
ขนาดความจุไม่น้อยกว่า 5,000 mAh กล้องถ่ายภาพประกอบอากาศยานปีกหมุน (Camera) ความละเอียด (Resolution) ของภาพถ่าย ไม่น้อยกว่า 20 ล้านพิกเซล หรือ 5472x3648 หรือดีกว่า สามารถบันทึกภาพความละเอียดสูงระดับ FID หรือดีกว่า Live Video Output ไม่น้อยกว่า 720p FID
หน่วยความจำขนิด Micro SD Card 16 GB Class 10 หรือดีกว่า มีแกนป้องกันการสั่นสะเทือน (Gimbal) ไม่น้อยกว่า 3 แกน กล้องสามารถควบคุมให้ถ่ายภาพได้ไม่น้อยกว่า 180 องศา กล้องถ่ายภาพความร้อนประกอบอากาศยานปีกหมุน (Thermal Camera) ตัวตรวจจับความร้อน (Detector) มีความละเอียดไม่ตํ่ากว่า 80x60 pixel ชุดควบคุมพร้อมหน้าจอแสดงผลระหว่างทำการบิน มีคันบังคับ4ทิศทางด้านซ้าย-ขาว เพื่อควบคุมทิศทางอากาศยานไร้คนขับ และเสาสำหรับ รับ-ส่ง สัญญาณเพื่อใซ้สื่อสารกับอากาศยานปีกหมุน จอภาพแบบสัมผัส ขนาดไม,น้อยกว่า 6 นิ้ว ความละเอียดของจอภาพ ไม่น้อยกว่า 720p
มีรายงานด้าวยว่า ขณะเดียวกัน ปภ.ยังคงดินหน้า เพื่อจัดซื้ออากาศยานปีกหมุน (Helicopter) เพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาสาธารณภัย จำนวน 2 ลำ (ครั้งที่ 2) ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding ) หลังจากยกเลิกประกวดราคาครั้งแรก หลังจากเอกชนรายหนึ่งเสนอราคาสูงกว่าราคากลาง 130 ล้านบาท โดยโครงการนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับกองทัพบก ในการจัดหาอากาศยานปีกหมุน โดยมีการยื่นข้อเสนอราคาเมื่อวันที่ 9 พ.ค.2561 โดย ปภ.กำหนดราคากลางเท่าเดิม คือ 1,732 ล้านบาท (ราคาต่อลำ 866 ล้านบาท) โดยอ้างอิงแหล่งที่มาราคากลางจากเอกชน 2 รายเดิม คือ บริษัท ดาต้าเกท จำกัด และ บริษัท ไรโซโบโรน เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด โดยล่าสุด ปภ.อยู่ระหว่างตรวจสอบผู้ยื่นเสนอราคา
เมื่อเร็วๆ นี้ ตัวแทน ปภ. กระทรวงมหาดไทย ได้รายการความคืบหน้าโครงการฯ ให้กับที่ประชุมคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 โดยเฉพาะงบประมาณ ปี พ.ศ. 2561 ผูกพันงบประมาณ จำนวน 160,380,000 บาท โดย โครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ในส่วนของงบผูกพัน ปี 2561 ยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้อีก 60 ล้านบาท เนื่องจากอยู่ระหว่างกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่ง ปภ. ได้ทำการเสนอราคาครั้งที่ 2 ในวันที่ 9 พ.ย. ที่ผ่านมา หากผลการดำเนินการอยู่ภายในวงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร คาดว่า จะก่อหนี้ผูกพันได้ภายในเดือน พ.ค. 2561
“สำหรับเหตุผลที่เบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า เนื่องจากอยู่ระหว่างเบิกจ่ายค่าจ้างล่วงหน้า ร้อยละ 15 (60 ล้านบาท) ตามสัญญาจ้าง ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 85 (100 ล้านบาท) อาจจะติดปัญหาส่งมอบครุภัณฑ์ ซึ่งจัดซื้อจากต่างประเทศต้องใช้ระยะเวลาในการส่งมอบประมาณ 240-300 วัน จึงทำให้การเบิกจ่ายไม่เป็นไปตามเป้าหมาย”