สนช.ผ่านวาระ 3 กฎหมายเงินทดแทน คุ้มครองลูกจ้างส่วนราชการ-เพิ่มเงินทดแทนให้ลูกจ้างเป็นร้อยละ 70 ยืดระยะเวลาจ่าย ส่งผลให้หลักประกันชีวิตที่ดีขึ้น
วันนี้ (19 ก.ค.) พล.อ.ศุภกร สงวนชาติศรไกร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เงินทดแทน ฉบับที่... พ.ศ. ... เปิดเผยภายหลังที่ประชุม สนช. มีมติผ่านวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ภายในสิ้นปี 2561 ว่าร่างดังกล่าวมีความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และการสร้างโอกาสเข้าถึงบริการของรัฐซึ่งเป็นกฎหมายที่แก้ไขแล้ว โดยลูกจ้างจะได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น และนายจ้างได้รับความเป็นธรรม และยังมีการเพิ่มคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อกำกับดูแลความโปร่งใสของกองทุนเงินทดแทนด้วย
ส่วนสาระสำคัญของกฎหมายนี้ ประโยชน์ที่นายจ้างได้รับ อาทิ ปรับลดเงินเพิ่มเหลือร้อยละ 2 จากเดิมร้อยละ 3 และเงินเพิ่มต้องไม่เกินจำนวนเงินสมทบที่นายจ้างต้องจ่าย ส่วนประโยชน์ที่ลูกจ้างได้รับ คือ การขยายความคุ้มครองไปถึงลูกจ้างของส่วนราชการกว่า 1 ล้านคน เพิ่มเงินทดแทนให้ลูกจ้าง จากเดิม ร้อยละ60 เป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน
นอกจากนี้ เพิ่มระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทนกรณีทุพพลภาพจาก 15 ปี เป็นไม่น้อยกว่า 15 ปี และกรณีลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย จากเดิม 8 ปี เป็นไม่เกิน 10 ปี อีกทั้ง ยังเพิ่มค่ารักษาพยาบาลจากเดิมสูงสุด 2 ล้านบาท เป็นสิ้นสุดการรักษา และลูกจ้างที่ไม่สามารถทำงานได้ เดิมตั้งแต่ 3 วัน แก้ไขเป็นตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป ให้ได้รับค่าทดแทน รวมถึงค่าทำศพจากเดิม 100 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันสูงสุด เป็นไม่น้อยกว่า 100 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันสูงสุด
“ประโยชน์ต่อกองทุน มีคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อกำกับดูแลความโปร่งใสได้มาตรฐาน และให้มีการตรวจสอบบัญชีภายในเป็นประจำ ทั้งนี้ เมื่อร่างดังกล่าวมีผลบังคับใช้จะทำให้ลูกจ้างมีหลักประกันชีวิตที่ดีขึ้น เพราะนอกจากเพิ่มค่าทดแทนแล้ว ยังเพิ่มระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทนให้เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิต และให้ความเป็นธรรมแก่นายจ้างด้วย” พล.อ.ศุภกร กล่าว