xs
xsm
sm
md
lg

ทวิภาคีไทย-ศรีลังกา เร่งยกระดับเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นายกฯเยือนศรีลังกา หารือทวิภาคีเร่งเสริมสร้างความร่วมมือการค้า การลงทุน ผ่านหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ

วันที่ (12 ก.ค. 2561) เวลา 18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ ซึ่ง นายไมตรีปาละ สิริเสนา ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา จัดขึ้นอย่างสมเกียรติและอบอุ่น ณ ทำเนียบประธานาธิบดี กรุงโคลัมโบ สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา หลังจากนั้น เวลา 18.30 น. นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา เข้าหารือทวิภาคีแบบเต็มคณะระหว่างไทย-ศรีลังกา สรุปสาระสำคัญดังนี้

ประธานาธิบดีศรีลังกาได้กล่าวเปิดการหารือด้วยการแสดงความชื่นชมยินดีต่อความสำเร็จของไทยในการช่วยชีวิตเยาวชนไทยทั้ง 13 คน ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวงได้อย่างปลอดภัย นับเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของคนไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กล่าวตอบว่า ความสำเร็จมาจากความพยายามและแรงสนับสนุนจากทุกคนทุกฝ่าย ที่ช่วยกันจนสำเร็จลุล่วงด้วยดี

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี และประธานาธิบดีศรีลังกา ต่างยินดีที่ไทยและศรีลังกามีความร่วมมือและความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ทางศาสนา ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของความร่วมมือในด้านต่างๆ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาความร่วมมือด้านการค้าและ การลงทุนให้ขยายตัวมากยิ่งขึ้น โดยการยกระดับสถานะความสัมพันธ์เป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ” ผ่านการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจและการเปิดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างกัน ซึ่งจะเร่งรัดให้มีการเปิดเจรจาโดนเร็วและขับเคลื่อนในส่วนที่สามารถดำเนินการได้ก่อน หากสำเร็จจะทำให้ทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุเป้าหมายการเพิ่มมูลค่าทางการค้าเป็น 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2563

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชมศักยภาพและการพัฒนาเศรษฐกิจของศรีลังกา โดยเฉพาะวิสัยทัศน์ของรัฐบาลศรีลังกาที่จะผลักดันให้ศรีลังกาเป็นศูนย์กลางทางการเงินและการขนส่งทางทะเลของภูมิภาค ซึ่งไทยและศรีลังกาจะผลักดันการเชื่อมโยงทางทะเลระหว่างโคลัมโบกับระนอง เพื่อช่วยขับเคลื่อนและขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง สำหรับความร่วมมือทางวิชาการ ไทยยินดีช่วยเหลือศรีลังกาเพื่อพัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพของศรีลังกาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการผลิต การเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตร และการแปรรูปวัตถุดิบ รวมทั้งสนับสนุนความร่วมมือด้านอื่นๆ ในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามที่ศรีลังกาต้องการ ซึ่งประธานาธิบดีศรีลังกาได้กล่าวชื่นชมหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและจะนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาชุมชนของศรีลังกาด้วย

ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชนผ่านการท่องเที่ยวเชิงศาสนาและสนับสนุนความร่วมมือเชิงวัฒนธรรม โดยนายกรัฐมนตรีเสนอให้มีการจัดทำ แพคเกจ การท่องเที่ยวให้น่าสนใจ มีกิจกรรมหลายรูปแบบเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งศรีลังกาพร้อมดำเนินการ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณศรีลังกาที่จะมอบหน่อโพธิ์ศักดิ์สิทธิ์ให้แก่รัฐบาลไทย สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ทางพระพุทธศาสนาที่มีมายาวนานและเป็นรากฐานของความสำคัญของไทยและศรีลังกา ทั้งนี้ ไทยพิจารณาให้วัดวชิรธรรมาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นสถานที่ที่มีความเหมาะสมสำหรับประดิษฐานหน่อโพธิ์ศักดิ์สิทธิ์ฯ ของศรีลังกา โดยไทยได้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อจัดเตรียมพิธีรับมอบหน่อโพธิ์ศักดิ์สิทธิ์ จากรัฐบาลศรีลังกาอย่างสมเกียรติ

ในช่วงท้าย ผู้นำทั้งสองฝ่ายหารือเรื่องความร่วมมือระดับพหุภาคี โดยยินดีสนับสนุนกันและกันในเวทีพหุภาคีที่ไทยและศรีลังกาเป็นสมาชิก และพร้อมร่วมมือกันรับมือกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งสองฝ่ายสามารถเป็นประตูเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคเอเชียใต้และอาเซียน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือด้านความเชื่อมโยงและคมนาคมในภูมิภาคภายใต้แผนแม่บทด้านความเชื่อมโยงในกรอบภูมิภาคที่ทั้งสองฝ่ายเป็นสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรอบ BIMSTEC ซึ่งศรีลังกามีศักยภาพและสามารถมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาท่าเรือและความเชื่อมโยงทางทะเลภายใต้แผนแม่บทด้านการคมนาคม BIMSTEC ได้

ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีศรีลังการ่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามเอกสารความร่วมมือต่าง ๆ จำนวน 4 ฉบับ ดังนี้

1) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ

2) สนธิสัญญาว่าด้วยการโอนตัวผู้กระทำผิดและความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญาระหว่างไทยและศรีลังกา

3) แผนการดำเนินโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาชุมชนต้นแบบอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในศรีลังกา

4) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าพื้นฐานระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมพื้นฐานศรีลังกากับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์





กำลังโหลดความคิดเห็น