“ประยุทธ์” เปิดทำเนียบต้อนรับทูตบราซิล ชื่นชมไทยช่วยทีมหมูป่าฯ ตั้งใจทำงานเพื่อกระชับความสัมพันธ์ นายกฯ ขอบคุณที่บราซิลรับซื้อยางพาราจากไทย พร้อมมีความร่วมมือในการซื้อขายยางพาราแบบรัฐต่อรัฐ
วันนี้ (11 ก.ค.) เวลา 13.30 น. นางอานา ลูซี เชนทิล กาบรัล เพเทอร์เซิน (H.E. Mrs. Ana Lucy Gentil Cabral Petersen) เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิลประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีในโอกาสเข้ารับหน้าที่ ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับ และยินดีที่ได้พบอีกครั้ง หลังจากที่ได้พบกับเอกอัครราชทูตเมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 ในโอกาสที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบราซิลเดินทางเยือนไทย แทนประธานาธิบดีบราซิล นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า หวังว่าจะมีโอกาสในการต้อนรับประธานาธิบดีบราซิลที่ประเทศไทยในเร็ววัน โดยเชิญประธานาธิบดีบราซิลเดินทางเยือนไทยในโอกาสแรก ทั้งสองฝ่ายชื่นชมความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกันที่มีมาด้วยดี อย่างยาวนานโดยจะครบ 60 ปี ในปี พ.ศ. 2562 นี้ ซึ่งพร้อมที่จะจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองครบรอบความสัมพันธ์ระหว่างกัน
เอกอัครราชทูตขอบคุณที่นายกรัฐมนตรีอนุญาตให้เข้าเยี่ยมคารวะในวันนี้ และแสดงความยินดี และชื่นชมที่รัฐบาลไทยได้ให้การช่วยเหลือ นักฟุตบอลและผู้ฝึกสอนทีมหมูป่าอะคาเดมี แม่สาย รวม 13 คน ซึ่งติดอยู่ภายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย พร้อมกันนี้ ได้กล่าวว่าพร้อมที่จะตั้งใจทำงานเพื่อกระชับความสัมพันธ์ไทย และบราซิล ให้แนบแน่นมากยิ่งขึ้น เพราะบราซิลให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์กับประเทศไทย เป็นประเทศที่มีศักยภาพ มีภูมิศาสตร์ที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางในภูมิภาคที่สำคัญ
นายกรัฐมนตรีชื่นชมว่า บราซิลเป็นประเทศที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ประสงค์ที่จะมีการค้า การลงทุนกับบราซิลเพิ่มขึ้น ขอบคุณที่ฝ่ายบราซิลรับซื้อยางพาราจากประเทศไทย ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกยางพารารายใหญ่ที่สุดในโลก ยางพาราไทยมีคุณภาพสูง และมีจำนวนเพียงพอแก่ความต้องการของบราซิล นายกรัฐมนตรีประสงค์ให้บราซิลส่งเสริมการใช้ยางไทยในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม และผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคในบราซิล และยินดีหากบราซิลจะมีการพิจารณาการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ กอปรกับ ทั้งสองฝ่ายยินดีที่จะมีความร่วมมือด้านการซื้อขายน้ำตาลมากขึ้น
ในส่วนของการลงทุนรัฐบาลไทยมีมาตรการเพื่อสนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติ โดยได้ดำเนินโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมีนักลงทุนหลายประเทศร่วมลงทุนในโครงการนี้แล้ว นโยบาย Thailand 4.0 ขับเคลื่อนนโยบายด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรม ตลอดจนนโยบาย Thailand + 1 เพราะประเทศไทยต้องการให้ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคได้รับประโยชน์ และมีการพัฒนาไปพร้อมกัน ซึ่งเอกอัครราชทูตบราซิลกล่าวว่าเห็นถึงศักยภาพของไทย และพร้อมสนับสนุนให้นักลงทุนชาวบราซิลร่วมลงทุนในโครงการ EEC และโครงการอื่นๆ ในประเทศไทย ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้มีการจัดการพบปะกันระหว่างเอกชน หรือ Business matching เพื่อขยายความร่วมมือด้านการลงทุนในสาขาที่มีศัยภาพ
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพการจัดการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy : ACMECS) ครั้งที่ 8 เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ที่ประชุมได้เห็นชอบ แผนแม่บท ACMECS (ACMECS Master Plan) ระยะ 5 ปี (ค.ศ. 2019-2023) โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศให้ข้อมูลเกี่ยวกับการประชุม ACMECS และ ASEAN ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพในปี 2562 เพื่อให้ฝ่ายบราซิลพิจารณาความร่วมมือต่อภูมิภาคนี้ต่อไป
ในตอนท้าย เอกอัครราชทูตบราซิลกล่าวว่า ยินดีที่ได้มาประจำการในประเทศไทย เพราะเห็นว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในสถานที่ที่น่าอยู่มากที่สุดในโลก