“ประยุทธ์” เปิดทำเนียบต้อนรับทูตอิตาลี เผยจัดกว่า 69 กิจกรรมฉลองสัมพันธ์ครบ 150 ปี ชมผลักดันการจัดตั้งสภาธุรกิจสองชาติ แย้มนักธุรกิจอิตาลีสน EEC
วันนี้ (6 มิ.ย.) เวลา 13.30 น. นายฟรันเชสโก ซาเวรีโอ นีซีโอ (H.E. Mr. Francesco Saverio Nisio) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิตาลีประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสพ้นจากหน้าที่ ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิตาลีประจำประเทศไทยที่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันมาโดยตลอด และปีนี้เป็นปีที่ครบรอบ 150 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-อิตาลี ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้มีการวางแผนจัดกิจกรรมกว่า 69 กิจกรรม เพื่อร่วมฉลองโอกาสสำคัญนี้อย่างต่อเนื่องตลอดปี นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า หลังสหภาพยุโรปเห็นชอบการปรับข้อมติของสหภาพยุโรปนั้น อิตาลียังเป็นประเทศแรกในสหภาพยุโรปที่มีการเยือนประเทศไทยในระดับสูง และนำไปสู่การเยือนอิตาลีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยในเวลาต่อมา สะท้อนให้เห็นเจตนารมณ์ของไทยและอิตาลีที่พร้อมจะส่งเสริมความสัมพันธ์ในทุกมิติและทุกระดับระหว่างกัน
สำหรับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมบทบาทของเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิตาลีประจำประเทศไทย ในการผลักดันการจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-อิตาลี ระหว่างภาคธุรกิจชั้นนำของสองประเทศ เพื่อเป็นช่องทางในการสร้างเครือข่ายและส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกัน รวมทั้งยังจะได้มีการพิจารณาให้มีการจัดกิจกรรมโรดโชว์ เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิตาลีประจำประเทศไทย กล่าวว่า นักธุรกิจอิตาลีจำนวนหนึ่งแสดงความสนใจที่จะมาลงทุนในพื้นที่ EEC ซึ่งจะมีโครงการนำคณะนักธุรกิจอิตาลีมาเยือนไทยในปีหน้า เพื่อสำรวจโอกาสการลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว และสำหรับด้านการท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายต่างยินดีที่ทั้งสองประเทศต่างเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่สำคัญของโลก ซึ่งไทย-อิตาลีสามารถร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ให้มากกว่าที่ผ่านมาได้อีกด้วย
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการจัดการประชุม ACMECS ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมที่กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 15-16 มิถุนายนนี้ ซึ่งอิตาลีอาจสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกรอบความร่วมมือดังกล่าวได้ในฐานะ development partner เพื่อสร้างความสัมพันธ์ให้เข้มแข็ง ทั้งในกรอบพหุภาคีและทวิภาคีให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไปในอนาคต