xs
xsm
sm
md
lg

มหาดไทย ประเมิน 3 ช่วงเวลา ตั้งงบเลือกตั้งท้องถิ่น สั่ง “ผู้ว่าฯ-นายอำเภอ” เข้มกำกับงบเลือกตั้ง เร่ง “อปท.ทั่วประเทศ” ซักซ้อมค่าใช้จ่าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


มหาดไทย ประเมิน 3 ช่วงเวลา ตั้งงบเลือกตั้งท้องถิ่น สั่ง “ผู้ว่าฯ-อปท.ทั่วประเทศ” เตรียมตั้งงบประมาณ หากมีการเลือกตั้งในปีงบ 61 คาบเกี่ยวในปีงบ 61-62 และ มีการเลือกตั้งในปีงบ 62 ยกข้อกฎหมายให้ตั้งงบตามอัตราค่าใช้จ่ายที่ กกต. กำหนด และถือปฏิบัติตามระเบียบ มท.ว่าด้วยงบของ อปท. ปี 41 เผยให้ “ผู้ว่าฯ-นายอำเภอ” กำกับการตั้งงบประมาณ กำหนดค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งท้องถิ่นตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

วันนี้ (6 ก.ค.) แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ให้ดำเนินการการซักซ้อมแนวทางปฏิบัติการตั้งงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเลือกตั้งท้องถิ่น และเตรียมความพร้อมในการตั้งงบประมาณเพื่อการใช้จ่ายในการเลือกตั้งท้องถิ่นในส่วนที่เกี่ยวช้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

ทั้งนี้ การซักซ้อมดังกล่าว กระทรวงมหาดไทย เห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (ฉบับที่ ..) พ.ศ.. ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย และเพื่อให้การดำเนินการเลือกตั้งของ อปท. เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มหาดไทยจึงอาศัยอำนาจตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีการงบประมาณของ อปท. พ.ศ.2541 ข้อ 4 และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547 ข้อ 7 กำหนดแนวทางปฏิบัติในการเตรียมความพร้อมตั้งงบประมาณ

มหาดไทย เห็นว่า หากมีการเลือกตั้งในปีงบประมาณ พ.ศ.2561 และงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้แล้ว ให้พิจารณาตามแนวทาง ดังนี้ กรณีที่งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 มิได้ตั้งงบประมาณ รายการค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นไว้ให้ อปท.โอนงบประมาณเหลือจ่าย หรีอรายการที่ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้จ่าย ไปตั้งจ่ายเป็นรายการค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น ในหมวดค่าตอบแทน ใช้สอยและวัสดุ ประเภทรายจ่ายเกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติราชการที่ไม่เข้าลักษณะรายจ่าย หมวดอื่นๆ สำหรับอัตราค่าใช้จ่ายให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดโดยให้ถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีการงบประมาณของ อปท. พ.ศ. 2541 ข้อ 26 และข้อ 7

นอกจากนี้ หากกรณี อปท.ได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นไว้แล้ว ให้ อปท.ตรวจสอบ ว่างบประมาณที่ได้ตั้งไว้มีเพียงพอที่จะใช้จ่ายในการเลือกตั้งหรือไม่ หากมีไม่เพียงพอให้ อปท. พิจารณาโอนงบประมาณจากรายการที่เหลือจ่าย หรือรายการที่ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้จ่าย โอนไป เพิ่มในรายการค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งท้องถิ่นให้เพียงพอตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีการงบประมาณของ อปท. พ.ศ. 2541 ข้อ 26 และข้อ 27

“ทั้งนี้ หากพบว่า มีงบประมาณเพียงพอที่จะดำเนินการ ให้ อปท. เร่งดำเนินการก่อหนี้ผูกพันและเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 หากไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทัน ก่อนสิ้นปีงบประมาณให้ขออนุมัติกันเงินต่อผู้บริหารท้องถิ่นไว้เพื่อเบิกจ่ายในปีถัดไป โดยถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงิน ขอํงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547 ข้อ 57”

แหล่งข่าวระบุว่า หรือหากกรณีมีการเลือกตั้งคาบเกี่ยวในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 และ พ.ศ. 2562 และข้อบัญญัติหรือเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้แล้ว หาก อปท. มีรายจ่ายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งต่อเนื่องระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ถึง พ.ศ. 2562 ให้ อปท. ถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิก จ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินของ อปท. พ.ศ. 2547 ข้อ 46 และแนวทางปฏิบัติในการบริหารงบประมาณข้างต้น

ขณะเดียวกัน “กรณีมีการเลือกตั้งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562” ในการจัดทำข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ให้ อปท.ตั้งงบประมาณรายจ่ายนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งท้องถิ่นในหมวดค่าตอบแทนใช้สอยและวัสดุ ประเภทรายจ่ายเกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติราชการที่ไม่เข้าลักษณะรายจ่ายหมวดอื่นๆ

กรณีที่งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้แล้ว ให้พิจารณาตามแนวทางข้างต้น ส่วนกรณีที่งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ออกใช้ไม่ทันปีงบประมาณ ให้อปท.ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณที่ล่วงมาแล้วไปพลางก่อน ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีการงบประมาณ อปท. พ.ศ.2561 ข้อ 7

“โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ที่กำกับดูแลการดำเนินการเกี่ยวกับการตั้งงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเลือกตั้งท้องถิ่นตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด”


กำลังโหลดความคิดเห็น