กสม.แถลงการณ์ชี้การจัดให้เด็กแต่งงานก่อนวัยอันควร ตัดอนาคตการศึกษา ปิดโอกาสการพัฒนา ขัดกติกาสากล แนะผู้เกี่ยวข้องพิจารณารอบคอบก่อนอนุญาต เร่งแก้ กม.ในประเทศให้สอดคล้องอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
วันนี้ (5 ก.ค.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใยและกังวลต่อกรณีชายชาวมาเลเซีย อายุ 41 ปี เดินทางมายังอำเภอสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เพื่อแต่งงานกับเด็กหญิงชาวไทยวัย 11 ปี ในช่วงเทศกาลฮารีรายอที่ผ่านมา เนื่องจากเห็นว่าการจัดให้เด็กผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 18 ปี หรือก่อนวัยอันควรถือเป็นการตัดอนาคตของเด็กผู้หญิงในการได้รับการศึกษา ตลอดจนเป็นการปิดโอกาสในการพัฒนาความพร้อมด้านต่างๆ สู่วัยผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นการขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) และ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 22 มาตรา 23 และมาตรา 26 ที่บัญญัติให้การปฏิบัติต่อเด็กต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ และผู้ปกครองต้องให้การอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน และพัฒนาเด็กที่อยู่ในความปกครองของตน ซึ่งคณะกรรมการประจำอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) วินิจฉัยแล้วว่า การจัดให้เด็กแต่งงานก่อนวัยอันควรถือเป็นการกระทำก่ออันตรายให้แก่เด็ก และมีข้อเสนอแนะให้รัฐภาคีทั้งสองอนุสัญญาออกกฎหมายห้ามจัดให้เด็กแต่งงานก่อนวัยอันควร รวมทั้งในการจัดทำรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศ (Universal Periodic Review) ครั้งล่าสุด คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) มีข้อเสนอแนะให้ประเทศไทยออกกฎหมายห้ามจัดให้เด็กแต่งงานก่อนวัยอันควรทุกกรณี
นอกจากนี้ การจัดให้เด็กแต่งงานก่อนวัยอันควรเพราะความยากจนถือเป็นการแสวงหาประโยชน์จากเด็ก โดยเฉพาะชายสามีที่เป็นผู้ใหญ่ ย่อมถือว่าได้กระทำผิดต่อเด็กหลายกรณี กสม.จึงขอให้บุคคลและองค์กรที่เกี่ยวข้องนำข้อห่วงกังวลดังกล่าวของ กสม.ไปพิจารณาประกอบการดำเนินการเพื่อมิให้มีการจัดให้เด็กแต่งงานก่อนวัยอันควร และเห็นว่าควรดำเนินการอนุวัติกฎหมายในประเทศให้สอดคล้องกับหลักการของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิของเด็กเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ซึ่งสังคมโลกมีเป้าหมายร่วมกันประการหนึ่งว่าจะต้องไม่มีการจัดให้เด็กแต่งงานก่อนวัยอันควรภายในปี 2573