กกต.ยังไม่ได้รับเทียบเชิญถกพรรคการเมืองแต่พร้อมทุกเมื่อ เผยข้อเสนอคลายล็อกพรรคการเมือง เปิดประชุมใหญ่ หาสมาชิก จัดตั้งสาขา เดินหน้าทำไพรมารีโหวต หลังกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศในราชกิจจาฯ มั่นใจได้เลือกตั้ง ก.พ. 62 ด้าน ชทพ.หวังหลังหารือได้แนวทางเลือกตั้งตามโรดแมป
วันนี้ (21 มิ.ย.) พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการหารือร่วมกับ คสช.และพรรคการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นก่อนวันที่ 26 มิ.ย.นี้ว่า ทาง กกต.ยังไม่ได้รับการประสานมา แต่ได้เตรียมความพร้อมทั้งหมดไว้แล้ว โดยประเด็นที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมคือการเดินหน้าสู่การเลือกตั้งมีปัญหาอะไรบ้างที่ต้องแก้ไข บนสมมติฐานว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือน ก.พ. 62 สิ่งที่พรรคการเมืองต้องเตรียมตัวคือ ประชุมใหญ่เพื่อแก้ไขข้อบังคับพรรค จัดตั้งสาขา หาสมาชิกพรรค เดินหน้าสู่การทำไพรมารีโหวต
ขณะที่ กกต.ก็ต้องเตรียมการเรื่องแบ่งเขตเลือกตั้ง หากกระชั้นชิดมากไปจะไม่ทัน ทั้งนี้จากข้อเสนอล่าสุดหากเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมเหล่านี้ได้ในช่วงเวลาที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็สามารถดำเนินการได้ทัน เนื่องจากมีเวลาอีก 90 วันก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ ซึ่งในส่วนของการแบ่งเขตเลือกตั้งอาจใช้มาตรา 44 ให้อำนาจ กกต.หรือใช้วิธีการออกเป็นพระราชกำหนดก็ได้ ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีกำลังหาวิธีการอยู่
ส่วนการจะทำไพรมารีโหวตนั้น เงื่อนไขสำคัญคือต้องให้พรรคการเมืองจัดประชุมใหญ่ได้ ซึ่ง คสช.น่าจะมีการคลายส่วนนี้ให้ แต่ยังไม่ยกเลิกทั้งหมด เนื่องจากยังห่วงปัญหาเรื่องความสงบ
สำหรับที่มีข่าวว่าอาจจะมีการงดเว้นไพรมารีโหวตนั้นยังไม่เคยได้ยิน เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายพรรคการเมืองและรัฐธรรมนูญด้วย แต่ทั้งหมดก็แล้วแต่ผู้มีอำนาจว่าจะตัดสินใจอย่างไร ทั้งนี้หากจะมีการแก้ไขเพื่อให้งดเว้นการทำไพรมารีโหวตจริง ต้องคำนึงถึงรัฐธรรมนูญด้วย และยืนยันว่าการทำไพรมารีโหวตครั้งนี้แม้ว่าจะกำหนดให้แต่ละจังหวัดมีตัวแทนสมาชิกไม่น้อยกว่า 100 คน เลือกผู้สมัครสส.นั้น จะไม่เป็นเพียงแค่พิธีกรรม เนื่องจากเป็นการดำเนินการตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย แม้ตัวแทนสมาชิกจะมีเพียง 100 คน ก็ถือเป็นตัวแทนสมาชิกที่เข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกผู้สมัครที่จะเข้าไปเป็น ส.ส.และผู้บริหารประเทศได้ ถือเป็นอำนาจของประชาชนที่ตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ
ส่วนการหารือที่จะเกิดขึ้นจะมีบทสรุปอย่างไรคงยังไม่สามารถบอกได้ อยู่ที่การหารือในวันดังกล่าว แต่ กกต.เห็นว่าต้องให้พรรคการเมืองมีเวลามากพอในการดำเนินกิจกรรมเพื่อไปสู่การเลือกตั้งเดือน ก.พ. 2562 ซึ่งยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงกำหนดการเลือกตั้งดังกล่าว
ด้านนายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ยังไม่ได้รับหนังสือเชิญจาก คสช.ให้ไปหารือเรื่องการเลือกตั้ง แต่ได้รับการประสานว่าจะส่งหนังสือมาทางแฟกซ์ ซึ่งพรรคชาติไทยพัฒนาพร้อมให้ความร่วมมืออยู่แล้ว เบื้องต้นผู้ที่จะเดินทางไปร่วมประชุม คือ ตนและนายวราวุธ ศิลปอาชา โดยหวังว่าการหารือครั้งนี้จะมีแนวทางที่ชัดเจนเพื่อเดินหน้าสู่การเลือกตั้งตามโรดแมปที่รัฐบาลวางไว้