xs
xsm
sm
md
lg

กสม.ชงรัฐแก้ปัญหาคนอยู่กับป่า ชี้ มาตรการทวงคืนกระทบชุมชนดั้งเดิม จี้แก้ กม.ทั้งระบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กสม. ชงรัฐแก้ปัญหาคนอยู่กับป่า ชี้ มาตรการทวงคืนผืนป่ากระทบวิถีดำรงชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ก่อนประกาศเขตป่า จี้ ยุติจับกุม - ไล่รื้อ จนกว่ากระบวนการพิสูจน์สิทธิถึงที่สุด ทบทวนมติ ครม. 3 ส.ค. 53 ปรับปรุงขั้นตอนประกาศเขตอุทยาน - เขตป่าสงวน แก้ไข กม. ที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ

วันนี้ (14 มิ.ย.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีมติเห็นชอบให้เสนอแนะมาตรการ หรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและข้อเสนอแนะในการปรับปรุงกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกรณี 1. การกำหนดเขตพื้นที่ในการทำกิน การอยู่อาศัย และการดำเนินวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตอุทยานแห่งชาติ โดยเห็นว่า ปัจจุบันหน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484 พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และ พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 อย่างเข้มงวดและเด็ดขาด อันเป็นการเร่งรัดการดำเนินมาตรการทวงคืนผืนป่าเพื่อปราบปรามผู้บุกรุกพื้นที่ป่าตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 64/2557 และฉบับที่ 66/2557 ทำให้ประชาชนในพื้นที่ กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง และชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่มาก่อนการประกาศเขตได้รับผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีพ สูญเสียพื้นที่ทำกินและอยู่อาศัย ถูกจับกุมและตกเป็นผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย การดำเนินการดังกล่าวส่งกระทบต่อสิทธิของประชาชนในการกำหนดเจตจำนงทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของตนเอง และสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างเสรีบนหลักการพื้นฐานแห่งผลประโยชน์ร่วมกัน ที่ได้รับการรับรองไว้ตามกติการะหว่างประเทศ จึงควรที่หน่วยงานของรัฐตามคำสั่ง คสช. ฉบับ ที่ 64/2557 และ 66/2557 ยุติการจับกุมกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่ยังประสงค์ให้มีการพิสูจน์สิทธิว่าเป็นผู้อยู่อาศัยมาก่อนการประกาศเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติ และจะดำเนินการขับไล่หรือไล่รื้อได้หลังจากที่มีการพิสูจน์สิทธิและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจนคดีถึงที่สุดแล้วเท่านั้น

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯควรทบทวนปรับปรุงขั้นตอนก่อนการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติหรือเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตลอดจนแนวทางการจัดการข้อพิพาทการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์และชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมกับหน่วยงานของรัฐในเชิงสร้างสรรค์โดยชุมชนมีส่วนร่วม และ ควรมุ่งเน้นนโยบายในเชิงป้องกันเพื่อการอนุรักษ์พื้นที่และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยพัฒนาศักยภาพและขยายผลองค์ความรู้ที่ได้รับจากการดำเนินโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม และคณะกรรมการที่ปรึกษาพื้นที่คุ้มครองในประเทศไทย (PAC) ให้เป็นกลไกหลักในการจัดการพื้นที่ป่าสงวนและอนุรักษ์ในทุกพื้นที่ ครม. ควรพิจารณาทบทวนสถานะทางกฎหมายของแนวนโยบายตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 53 เรื่อง แนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงในประเด็นเรื่องการจัดการทรัพยากร เพื่อยกระดับเป็นมาตรฐานเชิงกระบวนการในการพิสูจน์และคุ้มครองสิทธิของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมดังกล่าว โดยกำหนดหรือแก้ไขเพิ่มไว้ในกฎหมายระดับพระราชบัญญัติที่ใช้บังคับในพื้นที่สงวนคุ้มครองและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้หรือเขตอนุรักษ์อื่นๆ และผลักดันให้เกิดการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันของหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว เพื่อให้การดำเนินงานระหว่างหน่วยงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รับรองสิทธิเชิงกลุ่มของชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมให้มีพื้นที่ในการทำกิน การอยู่อาศัย และการดำเนินวิถีชีวิตตามวัฒนธรรม อันสอดคล้องกับสิทธิของชุมชนตามรัฐธรรมนูญ แทนการอนุญาตผ่อนผันให้ประชาชนแต่ละรายครอบครองทำประโยชน์ในลักษณะชั่วคราว

นอกจากนี้ ครม. ควรพิจารณานำหลักการให้ฉันทานุมัติที่เป็นอิสระแจ้งล่วงหน้า และโดยความยินยอม (Free, Prior, Inform and Consented - FPIC) มาใช้เป็นขั้นตอนตามกฎหมายก่อนการดำเนินโครงการของรัฐที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ดำเนินการแก้ไข พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 โดยเพิ่มหลักการมีส่วนร่วมของชุมชนในการกำหนดที่ดินให้เป็นอุทยานแห่งชาติ และศึกษาความเป็นไปได้ในการจำแนกเขตการจัดการสำหรับพื้นที่คุ้มครอง (Zoning) โดยเฉพาะเขตการใช้ประโยชน์แบบวิถีดั้งเดิม

2. กรณีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) ทับที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของประชาชน ที่ผ่านมาระหว่างปี 2544 - 2560 กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนในกรณีปัญหาเกี่ยวกับการออก นสล. จากประชาชนในหลายพื้นที่ จำนวน 178 คำร้อง ส่วนใหญ่เป็นกรณีที่ประชาชนกล่าวอ้างว่าหน่วยงานของรัฐผู้มีอำนาจดูแลรักษาที่สาธารณะประโยชน์ดำเนินการออก นสล. ทับที่ดินทำกินของประชาชนทำให้เกิดปัญหาการขับไล่ประชาชนออกจากที่อยู่อาศัยและทำกิน ตลอดจนการจับกุมดำเนินคดีประชาชนในฐานะผู้บุกรุกที่ดินของรัฐ ซึ่งเป็นกรณีพิพาทระหว่างรัฐกับประชาชนมายาวนาน กสม. จึงเห็นว่า ปัญหาการรุกที่สาธารณประโยชน์เกิดจากปัจจัยต่างๆ เช่น ความไม่ต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายเนื่องจากมีการโยกย้ายเจ้าหน้าที่อยู่บ่อยครั้ง ปัญหาด้านกลุ่มการเมืองท้องถิ่นที่เกรงการสูญเสียฐานเสียงจึงไม่กล้าขับไล่ผู้บุกรุกที่เข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ หลักฐานแสดงแนวเขตของที่สาธารณประโยชน์ไม่มีความชัดเจน ตลอดจนประชาชนบางกลุ่มไม่ทราบว่าจะมีการออก นสล. ในที่ดินแปลงพิพาท ฯลฯ ดังนั้นกระทรวงมหาดไทยและคณะรัฐมนตรีควร สำรวจตรวจสอบแนวเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงโดยคำนึงถึงวิถีชีวิต และการใช้ที่ดินของชุมชนในท้องถิ่น โดยแจ้งประชาชนในพื้นที่ให้ทราบถึงการออก นสล. และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบดูแลรักษาที่สาธารณประโยชน์เพื่อร่วมกันกำหนดมาตรการป้องกันการบุกรุกและการเข้ายึดครองพื้นที่ของผู้มีอิทธิพลเพิ่มเติม การรังวัดที่ดินเพื่อออก นสล. และเอกสารสิทธิในที่ดิน ควรใช้มาตราส่วน 1 : 4000 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 58 กรณีมีข้อโต้แย้งเรื่องแนวเขต ควรพิสูจน์สิทธิในที่ดินของประชาชนในพื้นที่ให้แล้วเสร็จก่อน จึงดำเนินการตามมาตรการทางปกครองกับประชาชนอย่างเป็นธรรม และควรมีมาตรการผ่อนผันให้แก่ประชาชนซึ่งใช้สิทธิโดยสุจริตในการอยู่อาศัยและทำกิน ในส่วนของผู้แอบแฝงเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณประโยชน์เพื่อหวังผลกำไร ควรดำเนินคดีตามกฎหมายให้ถึงที่สุดเพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำ

อีกทั้งก่อนการดำเนินคดีอาญาแก่ประชาชน หากไม่ได้เป็นการละเมิดต่อกฎหมายอย่างร้ายแรง ควรดำเนินกระบวนการทางปกครองก่อน ในกรณีที่ต้องมีการชดเชยเยียวยาความเสียหายให้แก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบควรดำเนินการด้วยความรวดเร็ว โดยคำนึงถึงหลักความเหมาะสมและเป็นธรรม หน่วยงานราชการต้องการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณประโยชน์ ควรให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมตัดสินใจว่าสมควรเปลี่ยนสภาพการใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือไม่ ควรแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 26 (พ.ศ. 2516) ออกตามความใน พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 45 (พ.ศ. 2537) ออกตามความใน พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 และ ข้อ 12 แห่งระเบียบกรมที่ดินว่าด้วยการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง พ.ศ. 2517 โดยเพิ่มเติมสถานที่ปิดประกาศการออก นสล. อีกหนึ่งแห่งคือ ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งเพิ่มเติมขั้นตอนการประชุมประชาคมของประชาชนในพื้นที่ประกาศออก นสล. และควรแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการมอบหมายให้สภาตำบลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยเหลือในการดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง พ.ศ. 2543


กำลังโหลดความคิดเห็น