xs
xsm
sm
md
lg

เผยยอด 46 พรรคเก่ายืนยันสมาชิก ปชป.หดเหลือ 9.7 หมื่น-พท.ไม่ถึงหมื่นคน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เผย 46 พรรคจากที่มีชื่อ 69 พรรคแจ้งยอดยืนยันสมาชิกต่อนายทะเบียนหลังครบกำหนด 31 พ.ค. ปชป.มีจำนวนสมาชิกสูงสุด 9.7 หมื่นคน จากเดิมที่เคยแจ้งไว้ 2.8 ล้านคน ขณะที่พรรคเพื่อไทยยืนยันสมาชิกแค่ 9,705 คน จากยอดเดิม 134,748 คน

วันนี้ (1 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา วันสุดท้ายของการแจ้งยืนยันสมาชิกพรรคการเมืองต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยพบในจำนวน 69 พรรคการเมืองที่ยังดำเนินกิจการอยู่มี 46 พรรคที่แจ้งยืนยันสมาชิกแล้ว ไม่ยืนยัน 23 พรรค โดยใน 46 พรรคที่ยืนยันนั้น มี 5 พรรคที่เหลือแต่หัวหน้าพรรคเพียงคนเดียว และมีหนังสือแจ้งมาว่า “ไม่มีสมาชิกยืนยัน”

สำหรับ 46 พรรคที่รายงานยอดสมาชิกมา ประกอบด้วย พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคชาติพัฒนา พรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทย พรรคพลังประเทศไทย พรรคทวงคืนผืนป่าประเทศไทย พรรคเสรีนิยม พรรคประชาธิปไตยเพื่อประชาชน พรรคชาติประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคเพื่อสหกรณ์ไทย พรรคมาตุภูมิ พรรคพลังท้องถิ่นไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังไทยรักชาติ พรรคยางพาราไทย พรรคธรรมาภิบาลสังคม พรรคร่วมพัฒนาชาติไทย พรรคเพื่อไทย พรรคกสิกรไทย พรรคคนไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาสันติ พรรคเครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทย พรรคภารดรภาพ พรรคไทยรวมพลัง พรรคเพื่อสันติ พรรคไทยรักธรรม พรรคพลังประชาธิปไตย พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย พรรคความหวังใหม่ พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคประชากรไทย พรรคมหาประชาชน พรรคประชาราช พรรคไทยมหารัฐพัฒนา พรรคกิจสังคม พรรคอนาคตไทย พรรครักษ์ธรรม พรรคเพื่อธรรม พรรคเพื่อชีวิตใหม่ พรรคมหาชน พรรคเพื่อชาติ พรรคประชาสามัคคี พรรคประชาธรรม และพรรคพลังสหกรณ์

โดยพรรคที่มีการยืนยันสมาชิกสูงสุดคือพรรคประชาธิปัตย์ 97,755 คน ยอดเดิม 2,895,747 คน รองลงมาคือ พรรคเพื่อไทย 9,705 คน จากยอดเดิม 134,748 คน พรรคชาติพัฒนา 5,583 คน จากยอดเดิม 19,563 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 2,886 คน จากยอดเดิม 26,022 คน พรรคความหวังใหม่ 2,168 คน จากยอดเดิม 13,295 คน และพรรคภูมิใจไทย 934 คน จากยอดเดิม 153,071 คน เป็นต้น

ส่วน 5 พรรคที่เหลือแต่หัวหน้าพรรคคนเดียวและมีหนังสือแจ้งมาว่า “ไม่มีสมาชิกยืนยัน” ประกอบด้วย พรรคเสรีนิยม พรรคชาติประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคประชาสันติ พรรคพลังประชาธิปไตย และพรรคมาตุภูมิ ของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตนกลิน อดีตหัวหน้าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ซึ่งการที่ 5 พรรคไม่เหลือสมาชิก และอีก 23 พรรคที่ไม่รายงานการแจ้งยอดสมาชิกพรรคตามกำหนดเวลาก็อาจมีผลให้ทั้ง 28 พรรคต้องสิ้นสภาพการเป็นการเป็นการเมืองตามที่กฎหมายกำหนด

ขณะที่การยื่นคำขอจดจองจัดตั้งพรรคการเมืองนั้น ขณะนี้มียอดรวม 106 พรรค มีการออกหนังสือรับแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง หรือแบบ พ.ก.7/2 แล้ว 63 พรรค อยู่ระหว่างเสนอออกแบบ 7/2 จำนวน8 พรรค อยู่ระหว่างการแจ้งให้แก้ไข 12 พรรค อยู่ระหว่างการตรวจสอบ 21 พรรค และขอยกเลิกคำขอ 2 พรรค ส่วนพรรคที่ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองแล้วและอยู่ระหว่างการตรวจสอบเอกสารหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง มีทั้งหมด 7 พรรคคือ พรรคทางเลือกใหม่ พรรคมติประชา พรรคประชาภิวัฒน์ พรรครวมใจไทย พรรคพลังพลเมืองไทย พรรคประชาธรรมไทย และพรรคพลังชาติไทย

ทั้งนี้ แหล่งข่าวให้ความเห็นว่า จำนวนสมาชิกที่พรรคการเมืองแจ้งต่อนายทะเบียบพรรคการเมืองนั้น แม้ภาพรวมจะมองได้ว่าพรรคสามารถปฏิบัติตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ได้ ไม่ติดขัดมากนักตามที่มีการร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญแต่ตามจำนวนสมาชิกที่แต่ละพรรคแจ้งโดยเฉพาะพรรคใหญ่ ที่มีสมาชิกหลักหมื่น แต่ไม่อาจบ่งชี้ได้ว่าเป็นจำนวน หรือเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ที่จะร่วมกันจัดตั้งเป็นตัวแทนประจำจังหวัดในเขตเลือกตั้งละ 101 คน ในแต่ละจังหวัดหรือจัดตั้งเป็นสาขาพรรค ที่ต้องมีสมาชิก 500 คนขึ้นไป ซึ่งตัวแทนประจำจังหวัดและหัวหน้าสาขาจะเป็นผู้ไปร่วมเป็นคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครของพรรคเพื่อไปดำเนินการจัดไพรมารีโหวตในแต่ละเขตเลือกตั้งในจังหวัดของทั้ง 77 จังหวัดไว้ก่อนตามที่กฎหมายพรรคการเมืองอนุญาตไว้

นอกจากนี้ เฉพาะหน้านี้แม้จำนวนสมาชิกที่พรรครายงานมาจะมีมากพอควร แต่พรรคก็ไม่อาจจะจัดประชุมใหญ่เพื่อแก้ไขข้อบังคับพรรคเพื่อ จัดทำคำประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองและนโยบายของพรรคหรือ หาสมาชิกพรรคเพิ่มเติม ในกรณีที่ยังมีไม่ครบ 5000 คน ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองใหม่ และไปตั้งตัวแทนพรรคการเมือง ประจำจังหวัดหรือสาขาในเขตเลือกตั้ง กรณีสำรวจแล้วยังพบว่า สมาชิกที่มีการแจ้งยอดนั้นไม่มีคุณสมบัติ ที่จะทำหน้าที่ ดังกล่าวในแต่ละเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้นๆได้ เพราะยังไม่ทราบว่าสมาชิกที่แจ้งเข้ามาจะมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเลือกตั้งไหน จังหวัดไหนบ้างเนื่องจากยังไม่มีการกำหนดเขตเลือกตั้งออกมา อีกทั้งคำสั่งคสช ที่ 57 /2557 ที่ห้ามพรรคจัดประชุมเคลื่อนไหวทางการเมืองและ คำสั่งคสช .ที่ 3/2558 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่5 คนยังคงอยู่

ดังนั้น การที่ 46 พรรค จาก69 พรรคการเมือง ซึ่งเท่าเทียมกับจำนวนพรรคที่ส่งผู้สมัครในปี 2554 ได้ แจ้งยืนยันจำนวนสมาชิก ย่อมเท่ากับว่า ทั้งหมดพร้อมที่จะ ปฏิบัติตามกฎหมายที่ คสช.ออก เพื่อจะลงเลือกตั้งตามหน้าที่ของพรรคการเมือง ซึ่งก็จะเป็นแรงบีบไปยัง คสช. ถึงคราวที่ให้ คสช.เป็นฝ่ายเร่งผ่อนคลายหรือปลดล็อคพรรคการเมือง แม้ปลดให้เฉพาะเรื่องที่จำเป็นจริงๆ ก็ตามเพื่อ ให้เตรียมการในเรื่องต่างๆ ได้ให้ทันต่อการเปิดรับสมัครเลือกตั้ง ที่ คสช.ได้ประกาศว่าใน ก.พ. 2562 แน่นอน มิฉะนั้น พรรคจะไม่มีเวลาเตรียมการต่างๆ เพียงพอ และก็ยากที่ คสช.จะอ้างเรื่องยังไม่ปลดล๊อกว่าเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมเท่าเทียมกันในการแข่งขัน ระหว่างพรรคการเมืองเก่ากับพรรคการเมืองที่ก่อตั้งขึ้นใหม่เหมือนที่ผ่านมา เพราะในคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ได้ให้โอกาสเฉพาะกลุ่มการเมืองพรรคใหม่ได้ยื่นจดแจ้งเพื่อขอจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ มาตั้งแต่ 1 มี.ค.แล้ว โดยยังอนุญาตให้พรรคใหม่ได้มีการจัดประชุมทางการเมืองที่เกิน 5 คน รวมถึงหาสมาชิกร่วมกันจัดตั้งพรรคได้ แต่สาเหตุที่การก่อตั้งพรรคใหม่ยังไม่สำเร็จ เป็นเพราะการจัดการภายในของกลุ่มการเมืองที่ขอจัดตั้งขึ้นใหม่เองที่ดำเนินการไม่เรียบร้อย เช่น สมาชิกขาดคุณสมบัติ เอกสารที่ยื่นไม่ถูกต้องครบถ้วน หรืออาจถึงกับเป็นความเท็จก็ได้ คสช.จึงยากที่จะนำเอาสาเหตุดังกล่าว มายื้อเวลาการที่จะปลดล็อกพรรคการเมืองทุกพรรคอีกต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น