xs
xsm
sm
md
lg

“องอาจ” ชี้ปกติเลื่อนคุยพรรคฯ รอ กม.ส.ส. รับยึดโรดแมปทำได้ ยันอดีต ส.ส.อยู่เกือบครบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
รองหัวหน้า ปชป.มองเลื่อนคุยพรรคการเมืองเป็นเรื่องปกติ ต้องรอ กม.ลูก ส.ส.ประกาศใช้ก่อน คาดตามตารางเลือกตั้ง พ.ค. 62 แต่หากเลือกตั้ง ก.พ.ตามโรดแมปก็ทำได้ เผย ปชป.เตรียมรับมือเลือกตั้ง 4 ข้อ ยันอดีต ส.ส.อยู่เกือบเต็มร้อย คาด “ธนาธร” บอกฉีก รธน.แค่แก้ไข

วันนี้ (31 พ.ค.) นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการที่รัฐบาลจะเลื่อนการเชิญพรรคการเมืองมาหารือเพื่อกำหนดวันเลือกตั้งในเดือน มิ.ย.ออกไปว่า เป็นเรื่องปกติที่การจะเชิญพรรคการเมืองหรือไม่นั้น ในคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 บอกว่าจะเชิญผู้แทนพรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมืองต่างๆ เข้าหารือด้วยก็ได้ นั่นคือหารือด้วยก็ได้ หรือไม่หารือก็ได้ อย่างไรก็ตาม การพบปะพูดคุยกับตัวแทนขององค์กรกลุ่มต่างๆ ก็ต้องทำหลังจากที่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าจะเลื่อนออกไปก็เป็นเรื่องปกติ ไม่ได้มีอะไร

นายองอาจกล่าวต่อว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่ากฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ทุกอย่างก็ดำเนินการไปตามขั้นตอนของโรดแมป เมื่อมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับครบแล้วก็ต้องนับ 90 วันของกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. บวกอีก 150 วัน ถ้านับไปตามนี้ใช้เวลาเต็มที่ทุกขั้นตอนก็จะไปตกประมาณเดือน พ.ค. 2562 แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกขั้นตอนต้องใช้เวลาเต็มพิกัด เพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมาใช้เวลาภายใน 45 วัน หรือภายใน 60 เพราะฉะนั้นทุกอย่างก็น่าจะเป็นไปตามนี้

เมื่อถามว่ามีความต่างกันหรือไม่ ระหว่างการเลือกตั้งเดือน ก.พ. กับเดือน พ.ค. 2562 นายองอาจกล่าวว่า ไม่มีอะไรต่างกันมาก บวกลบ 2-3 เดือน ก็มีความเป็นไปได้ แต่คิดว่าถ้ายังอยู่ใน ก.พ. 62 ก็ยังอยู่ได้ ตามระยะเวลาที่ให้ไว้

นายองอาจกล่าวต่อว่า มีอดีต ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ไปร่วมกับพรรคที่ตั้งใหม่ อย่างพรรคร่วมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ถือว่ามีจำนวนไม่มาก และอดีต ส.ส.เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ยังอยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะอดีต แกนนำ กปปส. ที่ตั้งใจจะลงสมัคร ส.ส.ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนอดีตส.ส.อื่นที่ไม่ใช่แกนนำ กปปส.เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ก็มายืนยันการเป็นสมาชิกพรรค แม้มีบางคนที่ยังไม่มา เพราะติดเรื่องไปบวช แต่เมื่อมีการปลดล็อกทางการเมืองแล้ว ตนคิดว่าคนเหล่านี้ก็จะกลับมาเป็นสมาชิกพรรค แต่ต้องยอมรับว่าเวลามีพรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้น พรรคการเมืองเก่าก็คงต้องกระทบกระเทือนบ้าง แต่ไม่มาก และโดยภาพรวมก็ไม่มีอะไรน่าหนักใจ ซึ่งพรรคต้องเตรียมรับมือสำหรับการเลือกตั้งที่จะถึงนี้โดย 1. ต้องหาบุคลากรที่มีความเหมาะสมลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตนั้นๆ 2. สร้างความเข้าใจกับสมาชิกที่อาจจะเอนเอียงไปกับอดีต ส.ส.ที่ย้ายไปอยู่พรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ว่าทำอย่างไรเขาควรจะให้การสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ต่อไป ซึ่งเท่าที่ดูแล้วสมาชิกพรรคส่วนมากก็จะเข้าใจ และยังยืนยันว่าจะให้การสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ต่อไป 3. ย้ำเตือนสมาชิกอยู่ตลอดเวลาว่าเราต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้น เพราะเมื่อมีพรรคใหม่เกิดขึ้น คนก็มีทางเลือกเพิ่มขึ้น ถ้าเราไม่ทำงานหนัก โอกาสก็จะไม่เพิ่มขึ้น และ 4. เราต้องเสนอความหวัง ทางออกให้กับประชาชนให้มีความชัดเจน ตอบโจทย์ปัญหาพี่น้องประชาชนได้

ส่วนกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ประกาศจุดยืนจะฉีกรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 นั้น นายองอาจกล่าวว่า ไม่ทราบว่าความหมายฉีกรัฐธรรมนูญนี้ไปไกลถึงขั้นไหน แต่เข้าใจว่าผู้พูดเรื่องนี้คงไม่ได้หมายถึงว่าจะเป็นผู้นำการรัฐประหาร แล้วฉีกรัฐธรรมนูญ คงไม่ใช่อย่างนั้น เข้าใจว่าคงต้องการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมากกว่า ซึ่งการเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นสิทธิของประชาชนคนไทยด้วย ไม่ใช่แค่สิทธิของนักการเมือง เพราะประชาชนคนไทย 5 หมื่นคน ถ้าเข้าชื่อรวมกันก็มีสิทธิที่จะยื่นญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้อยู่แล้ว ส่วนทาง ส.ส.หรือ ส.ว.ก็มีสิทธิที่จะยื่นแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้เช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น