xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ดวินิจฉัยจัดซื้อฯ ยกเว้น “ยาเสพติด ประเภท 2” ให้สถานพยาบาลรัฐ เหตุไม่พอรักษาคนป่วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บอร์ดวินิจฉัยปัญหาจัดซื้อจัดจ้างฯ ปรับระบบ ยกเว้นจัดซื้อ “วัตถุออกฤทธิ์/ยาเสพติดทางการแพทย์” โดยวิธีเฉพาะเจาะจง ผ่าน อย. แจ้งด่วน! หน่วยราชการทั่วประเทศ หลังระเบียบจัดซื้อฉบับใหม่ ขัด กม.ยาเสพติด 2 ฉบับ กระทบ “สถานพยาบาลรัฐ” จัดซื้อวัตถุออกฤทธิ์/ยาเสพติดทางการแพทย์ ผ่านอิเล็กทรอนิกส์ ไม่เพียงพอให้บริการแก่ผู้ป่วย

วันนี้ (30 พ.ค.) มีรายงานจากกระทรวงการคลัง ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง มีหนังสือถึงผู้บริหารและหัวหน้าส่วนราชการทั่วประเทศ ถึงแนวทางปฏิบัติในการจัดซื้อวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 หรือยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 (ยาเสพติดให้โทษทั่วไป เช่น มอร์ฟีน, โคคาอีน, โคเดอีน และ ฝิ่นยา) ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559

โดยพระราชบัญญัติ ทั้ง 2 ฉบับ ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ ในประเภท 2 และยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ไว้เป็นการเฉพาะ ซึ่งหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าว ไม่เป็นไปตามกระบวนการจัดซื้อตามที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เป็นผลให้หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นสถานพยาบาลไม่สามารถปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 รวมทั้งการดำเนินการ ในระบบการจัดซื้อจัดจ้างด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Government Procurement : e-GP) ได้ อันส่งผลให้สถานพยาบาลหลายแห่งไม่สามารถจัดซื้อวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 และยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ได้ทันหรือไม่เพียงพอในการให้บริการแก่ผู้ป่วยได้

ทั้งนี้ คณะกรรมการวินิจฉัยฯ ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ เห็นว่า เพี่อให้การจัดซื้อวัตถุออกฤทธิ์ ในประเภท 2 หรือยาเสพติดให้โทษใบประเภท 2 ในการปฏิบัติงานตามภารกิจของหน่วยงานของรัฐเป็นไป โดยถูกต้อง เหมาะสมและในแนวทางเดียวกัน เห็นควรกำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับการจัดซื้อวัตถุออกถุทธิ์ ในประเภท 2 หรือยาเสพติดให้โทษใบประเภท 2 ดังนี้

1. ยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหาร พัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 22 วรรคหนึ่ง โดยให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการจัดทำคำขอซื้อวัตถุออกฤทธิ์ ในประเภท 2 และยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ภายใต้หลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 กฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ หรือแนวทางปฏิบัติที่ออกตามความของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น โดยวิธีเฉพาะเจาะจง ตามมาตรา 56 วรรคหนึ่ง (6) (ค) แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยให้ถือว่าคำขอซื้อดังกล่าว เป็นการจัดทำรายงานขอซื้อโดยอนุโลม ซึ่งหน่วยงานของรัฐไม่จำต้องจัดทำใบสั่งซื้อไปยัง อย. อีกแต่อย่างใด และเมื่อ อย. ได้อนุมัติคำขอซื้อ โดยการออกใบแจ้งหนี้ให้แก่หน่วยงานของรัฐ ให้ถือว่าใบแจ้งหนี้ดังกล่าวเป็นบันทึกข้อตกลงใบการซื้อต่อกัน ทั้งนี้ ราคาให้ถือตามประกาศ อย. เรื่อง กำหนดราคายาเสพติดให้โทษ และวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท

2. ยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 78 วรรคหนึ่ง (1) (ข) กล่าวคือ หน่วยงานของรัฐไม่จำต้องแต่งตั้งคณะกรรมการซื้อหรือจ้างเพื่อเชิญ อย. มายื่นเสนอราคาหรือมาต่อรองราคา

3. ยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 164 วรรคหนึ่ง ในการทำสัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสีอ หน่วยงานของรัฐ ไม่จำต้องกำหนดค่าปรับ เนื่องจาก อย. เป็นผู้มีอำนาจในการนำเข้า และจัดสรรการจำหน่ายให้แก่สถานพยาบาลอย่างทั่วถึง ทั้งนี้ เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิต และประสาท กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ และพันธกรณีตามกฎหมายต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

4. หน่วยงานของรัฐต้องจัดให้มีผู้ตรวจรับวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 หรือยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 175 ทั้งนี้ โดยให้ใช้เอกสารคำขอซื้อและเอกสารใบแจ้งหนี้เป็นหลักฐานประกอบการตรวจรับ


กำลังโหลดความคิดเห็น