สภากลาโหมสั่งเหล่าทัพติดตามภัยคุกคามด้านกิจการอวกาศ พร้อมพัฒนาการควบคุมดาวเทียมเอง รองรับ “ธีออส 2” พัฒนาเป็นดาวเทียมเพื่อความมั่นคงของรัฐ ด้านโฆษกกลาโหมปัดดาวเทียมทหาร เพราะทุกหน่วยงานใช้ร่วมกัน ระบุเกิดเป็นรูปธรรมปี 2564 หลังหมดสัญญา “ไทยคม”
วันนี้ (30 พ.ค.) พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมสภากลาโหมว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมติดตามพัฒนาการของภัยคุกคามด้านกิจการอวกาศ ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และให้บูรณาการงานร่วมกับ กองบัญชาการกองทัพไทยและเหล่าทัพ รวมทั้งภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ พัฒนาขีดความสามารถด้านกิจการอวกาศของกระทรวงกลาโหม ให้เป็นไปตามแผนงานที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม โดยเฉพาะการพัฒนาองค์ความรู้และขีดความสามารถของกำลังพลจากระดับผู้ใช้งาน (USER) สู่การเป็นผู้ควบคุมและบริหารสถานีดาวเทียม (OPERATOR) เพื่อพัฒนาไปสู่การพึ่งพาตนเองและรองรับระบบงานความมั่นคงด้านอวกาศของประเทศในอนาคต (การใช้ดาวเทียมสอดแนม ระบบขีปนาวุธนำวิถีด้วยดาวเทียมนำร่อง และระบบนำร่องอากาศยานไร้คนขับในการทิ้งระเบิดเป้าหมาย)
พล.ท.คงชีพกล่าวอีกว่า ตอนนี้เราเช่าดาวเทียมไทยคมเพื่อการสื่อสารอยู่ ซึ่งจะหมดสัญญาในปี 2564 ในส่วนของความมั่นคงเราใช้ธีออสของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ต่อไปเราะจะพัฒนาเป็นดาวเทียมของเราที่ใช้ในระบบเอง แต่ตอนนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ก็จะมีสร้างธีออส 2 ขึ้นมาใหม่ เมื่อถามว่าจะผนวกการให้ความมั่นคงใช้ธีออส 2 ด้วยใช่หรือไม่ พล.ท.คงชีพกล่าวว่า แผนตรงนี้ยังไม่ชัดเจน แต่เป้าหมายคือการพัฒนาให้มีดาวเทียมเพื่อความมั่นคงของรัฐ แต่จะเรียกรวมว่าดาวเทียมทหารเลยคงไม่ใช่ เพราะเป็นการใช้ร่วมกันทั้งหมด
“ตอนนี้เราเช่าดาวเทียมเขาอยู่ แต่ถ้ารัฐมีเองเราก็ให้คนอื่นเช่าได้ เพราะเรามีช่องสัญญาณความมั่นคงที่เราคุมเอง เพราะในขณะนี้มีการใช้ดาวเทียมมากขึ้น ระบบต่างๆ ควบคุมด้วยดาวเทียมมากขึ้น เราจึงต้องเห็นความสำคัญในเรื่องการพัฒนากิจการอวกาศไปสู่จุดที่มี และใช้ด้วยตัวเราเอง ทุกวันนี้เราเป็นผู้ใช้ ต่อไปต้องพัฒนาตัวเราไปเป็นผู้บริหารสถานีดาวเทียมด้วย” พล.ท.คงชีพระบุ
เมื่อถามต่อว่าถ้าคณะรัฐมนตรีอนุมัติตามแผนจะใช้เวลาเท่าไหร่ในการที่ไทยจะมีดาวเทียมใหม่ พล.ท.คงชีพกล่าวว่า คาดว่าคงภายในปี 2564 เพราะไทยคมจะหมดสัมปทานในปี 2564 เราจึงต้องเตรียมตัวของเราไว้ด้วย โดยงานหลักที่รับผิดชอบหลักคือกระทรวงวิทยาศาสตร์ เราจะดูในส่วนของกระทรวงกลาโหม ทั้งนี้ ในส่วนของงบประมาณยังไม่แน่ชัดว่าวงเงินเท่าใด แต่ถ้ามีจะคุ้มค่า ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติ การสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ งานด้านการทหาร ความมั่นคง การเฝ้าระวังทางอากาศ การสื่อสาร การสำรวจเพื่อการพัฒนา ภาพถ่ายทางอากาศ