กระทรวงกลาโหมเล่นใหญ่ เตรียมเสนอรื้อฟื้นโครงการ “ดาวเทียมทหาร” เพื่อความมั่นคงระยะเวลาตั้งแต่ปี 61-70 คาดใช้งบมหาศาล ขณะที่ “บิ๊กป้อม” ยังปิดปากบอกรอฟังข้อเสนอในที่ประชุมสภากลาโหมก่อน
วันนี้ (30 พ.ค.) ที่กระทรวงกลาโหม มีรายงานว่าในที่ประชุมสภากลาโหมจะมีการนำเสนอแนวความคิดด้านกิจการอวกาศ ของกระทรวงกลาโหม เพื่อจัดทำร่างยุทธศาสตร์กิจการอวกาศเพื่อการป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2561-2570 โดยมีเป้าหมายให้กระทรวงกลาโหมจะต้องเป็นหน่วยงานหลักในการใช้เทคโนโลยีอวกาศด้านความมั่นคงของประเทศโดยตรง มิใช่เพียงการเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานกับหน่วยงานอื่นเท่านั้น ทั้งนี้ วิสัยทัศน์กระทรวงกลาโหม เป็นองค์กรหลักด้านกิจการอวกาศที่มีศักยภาพในการเตรียมกำลัง ผนึกกำลัง และพัฒนาด้านกิจการอวกาศ เพื่อการป้องกันประเทศ
อย่างไรก็ตาม มีการเผยแพร่ข้อมูลอ้างอิงเอกสารวาระการประชุม โดยระบุถึงพันธกิจกระทรวงกลาโหมด้านการพัฒนา เสริมสร้างและบูรณาการขีดความสามารถด้านกิจการอวกาศ เพื่อการป้องกันประเทศ ตามยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม (พ.ศ. 2560-2579) ด้วยการเตรียมกำลัง การผนึกกำลัง และการพัฒนา
ประเด็นยุทธศาสตร์ย่อย 1. การสร้างความพร้อมด้านกิจการอวกาศ ของหน่วยงานภายในกระทรวงกลาโหม ให้สามารถนำเทคโนโลยีอวกาศไปใช้ในการปฏิบัติภารกิจทางด้านความมั่นคง ในการป้องกันประเทศ พิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของชาติ รวมทั้งเพื่อการพัฒนาประเทศ และการช่วยเหลือประชาชน ทั้งในภาวะปกติ และภาวะไม่ปกติ 2. การสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ในการแบ่งปัน แลกเปลี่ยน และบูรณาการทรัพยากรที่มี เพื่อให้กระทรวงกลาโหมมีศักยภาพด้านกิจการอวกาศเพื่อการป้องกันประเทศ เมื่อได้รับมอบหมายจากรัฐบาลและเมื่อถึงเงื่อนไขที่กาหนด สร้างความร่วมมือระดับนานาชาติ และรักษาสมดุลของความสัมพันธ์ได้อย่างบังเกิดผลเป็นรูปธรรม 3. การสร้างนวัตกรรม องค์ความรู้ใหม่ๆ ด้านกิจการอวกาศ การปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบต่างๆ ให้ทันต่อ ภัยคุกคามในรูปแบบต่างๆ เทคโนโลยี และสถานการณ์ความมั่นคงของโลก มีการศึกษา วิจัย และพัฒนานวัตกรรมอวกาศในการก้าวไปสู่กิจการอวกาศเพื่อการป้องกันประเทศ
ทั้งนี้จะมีการชี้แจงโครงการดาวเทียม THEIA โดย สทป. ซึ่งยังไม่มีข้อมูลความชัดเจนเกี่ยวกับรายละเอียดคุณสมบัติและประสิทธิภาพการใช้งานตามแนวคิดร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าว และต้องใช้งบประมาณสูงมาก
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ปฏิเสธที่จะตอบคำถามถึงรายละเอียดของโครงการดังกล่าวที่ถูกมองว่าเป็นการรื้อฟื้นโครงการดาวเทียมทหาร โดยระบุว่าขอให้ฟังการชี้แจงในที่ประชุมสภากลาโหมก่อน