xs
xsm
sm
md
lg

“มีชัย” รอพรุ่งนี้ ศาล รธน.วินิจฉัยร่าง พ.ร.ป.ส.ส.-ส.ว. ชี้ถ้าแก้เฉพาะจุดไม่กระทบโรดแมป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประธาน กรธ.เผยรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่าง พ.ร.ป.ส.ส.-ส.ว.พรุ่งนี้ ชี้หากแก้ไขก็แก้เพียงเฉพาะจุด ไม่น่ากระทบโรดแมปการเลือกตั้ง

วันนี้ (22 พ.ค.) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีการพิจารณาว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา (ส.ว.) ในวันพรุ่งนี้ (23 พฤษภาคม) ว่า ทั้ง 2 ฉบับมีปัญหาอย่างเดียวกันก็คือ มีบทบัญญัติที่เป็นปัญหานั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทางที่เป็นไปได้ก็คือ ไม่ขัดหรืออีกทางหนึ่งก็คือขัด ถ้าขัดกับรัฐธรรมนูญ ก็ต้องดูว่าจะกระทบต่อสาระสำคัญที่จะทำให้ร่างนั้นตกไปทั้งฉบับหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ บทบัญญัติเฉพาะมาตรานั้นก็ตกไป นำมาใช้บังคับไม่ได้ แต่ตัวร่าง พ.ร.ป.นั้นสามารถนำมาบังคับใช้ได้ แต่ถ้าศาลฯ วินิจฉัยว่าขัดหรือแย้งทั้งฉบับ ร่าง พ.ร.ป.ก็จะตกไป ทาง กรธ.ก็ต้องกลับมาทำใหม่ คิดว่าใน กรธ. ถ้าเรื่องมาถึงก็น่าจะแก้เฉพาะส่วนที่ขัดหรือแย้ง แล้วส่งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้พิจารณา หากแก้เพียง 1-2 มาตราก็สามารถพิจารณา 3 วาระรวดเลยก็ได้ ดังนั้นจึงไม่น่ากระทบต่อโรดแมปในการเลือกตั้ง เพราะน่าจะใช้เวลารวมทั้งขั้นตอนของ สนช.แล้ว 2-3 สัปดาห์ก็น่าจะจบ เพราะไม่น่าจะไปรื้อหรือทำอะไรใหม่ๆ เพราะไม่น่าจะมีเวลาแล้ว

“ร่างกฎหมาย ส.ส.ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะประเด็นมันอยู่ตรงที่ว่า การให้คนพิการลงคะแนน และตัดสิทธิ์คนที่ไม่ไปใช้สิทธิ์ ซึ่งถ้าตัวนั้นใช้ไม่ได้ก็จะหายไป 2 มาตรา แต่ถ้าเป็นร่าง ส.ว.ก็จะมีปัญหาหน่อย เพราะว่า มันกระทบทั้งบทเฉพาะกาลและเนื้อหาข้างใน ตรงนั้นอาจจะมีปัญหาได้ว่าถ้าขัดเฉพาะตรงนั้นแล้วจะทำอย่างไร เพราะว่าบทเฉพาะกาลมันจะหายไป เพราะช่วงแรก ส.ว.ที่มาจากการเลือก ไม่ใช่ 200 แต่เป็น 50 เพราะฉะนั้น ในเวลาเขียนบทเฉพาะกาลก็เขียนเผื่อเอาไว้เฉพาะ 50 แล้วมาตราที่ระบุที่ว่าให้มาจาก 2 ทางนั้น พอตกไปแล้วตัวที่เขียนรองรับ 50 คนก็จะตกไปด้วย ตรงนั้นก็จะเป็นปัญหา ทั้งนี้ก็แล้วแต่ว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยอย่างไร” นายมีชัยกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น