xs
xsm
sm
md
lg

กห.สั่งเก็บข้อมูลชาวต่างชาติ พัฒนาระบบมั่นคง พร้อมใช้ กม.ฟันนายทุนบุกรุกปลูกยาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม (แฟ้มภาพ)
โฆษกกลาโหมเผย “บิ๊กป้อม” สั่งจัดเก็บข้อมูลชาวต่างชาติในไทย พัฒนาระบบงานความมั่นคง ป้องกันอาชญากรรม-ก่อการร้าย ตั้ง “สุวพันธ์” นั่งประธาน คกก.ติดตามแก้ไขปัญหา “พีมูฟ” สั่งลุยคืนพื้นที่ป่า บังคับใช้ กม.ปราบนายทุนบุกรุกปลูกยางพารา

วันนี้ (16 พ.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน ว่าที่ประชุมได้รับทราบรายงานการปฏิรูประบบด้านความมั่นคง การจัดเก็บข้อมูลต่างด้าวที่เข้ามาพักอาศัยในประเทศไทย เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติและการก่อการร้าย โดยฝ่ายความมั่นคงกำลังพัฒนาระบบฐานข้อมูลสำหรับติดตามชาวต่างด้าว โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยว นักลงทุน รวมถึงแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย โดยจะมีการเชื่อมโยงระบบจัดเก็บข้อมูลให้เป็นระบบเดียวกัน ตั้งแต่ที่เดินทางเข้าเมือง ที่พักอาศัย และอื่นๆ

พล.ท.คงชีพกล่าวว่า ในระหว่างการพัฒนาระบบจัดเก็บฐานข้อมูลนี้ พล.อ.ประวิตรได้มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ทำหน้าที่ให้คำแนะนำด้านเทคนิคการเชื่อมโยงข้อมูล พร้อมสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมาย เร่งรัดติดตามชาวต่างด้าวที่ไม่อยู่ในระบบ เพื่อมาดำเนินการให้ถูกต้อง และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ไปสำรวจการพักอาศัยของชาวต่างด้าวด้วย

พล.ท.คงชีพกล่าวว่า ส่วนประเด็นการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ไทยจะสามารถให้สัตยาบันเกี่ยวแรงงานบังคับฉบับที่ 29 ได้ในเดือนมิถุนายนนี้ โดย พล.อ.ประวิตรมอบหมายให้กระทรวงแรงงานและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เข้มงวดการบังคับใช้ พร้อมกำชับว่ารัฐบาลจะไม่ยอมปล่อยให้มีการค้ามนุษย์เกิดขึ้นอย่างเด็ดขาด เพื่อสร้างความเชื่อมั่น เป็นที่ยอมรับแก่ต่างชาติ อันจะเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม

พล.ท.คงชีพกล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้ร่วมพิจารณาจัดทำร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการติดตามขับเคลื่อนการแก้ปัญหาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) โดยมีหลักการว่าจากกรณีที่ทางกลุ่มประชาชนได้ร้องเรียนถึงปัญหา และข้อเสนอแนะในการดำเนินการแก้ปัญหา ทางรัฐบาลมีความจริงใจที่จะรับปัญหาเหล่านั้นมาแก้ไข เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมให้มีประสิทธิภาพ ต้องการให้มีความสอดคล้องต่อความต้องการของประชาชน และเกิดความเป็นธรรม รวมถึงเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ จึงจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ซึ่งจะเป็นคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 โดยจะมีหน้าที่ 2 เรื่อง คือ 1. ติดตาม และเร่งรัดการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง กับประเด็นความเดือดร้อนของประชาชน 2. รวบรวมปัญหา แนวทางการแก้ไขผลกระทบ และการเยียวยาประชาชน รวมถึงพิจารณาการใช้มาตรการและกฎหมายเพื่อแก้ปัญหา ให้เป็นไปตามกระบวนการตามกรอบกฎหมายที่มีอยู่

พล.ท.คงชีพกล่าวต่อไปว่า ขณะนี้จัดทำร่างคำสั่งเรียบร้อยแล้ว โดยมีนายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะอนุกรรมการ และจะมีผู้แทนและปลัดจากกระทรวงต่างๆ รวมถึงมีผู้แทนจากกลุ่มพีมูฟอีก 12 คนเข้าร่วมด้วย โดยจะนำร่างคำสั่งนี้ให้นายกรัฐมนตรีลงนามต่อไป หลังจากนั้นจะเรียกมาประชุมร่วมกัน ทั้งนี้ปัญหาโฉนดที่ดินชุมชนนั้นทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะไปทบทวนการแต่งตั้งคณะกรมการเพื่อแก้ปัญหานี้ต่อไป และจะเสนอให้ที่ประชุมทราบต่อไป

ด้าน พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก กล่าวว่า จากที่รัฐบาลเร่งรัดคืนพื้นที่บุกรุกป่า โดยเฉพาะในส่วนที่มีการบุกรุกเพื่อปลูกยางพารา พล.อ.ประวิตร ได้เร่งรัดการตรวจสอบพื้นที่ป่าสงวนและป่าอนุรักษ์ ให้นำคืนพื้นที่เพื่อปลูกป่าที่อุดมสมบูรณ์ โดยดำเนินการอย่างละเอียดรอบครอบ ตามกฎหมาย ให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งก็เพื่อต้องการลดปริมาณน้ำยางพาราที่ออกสู่ตลาด โดยเฉพาะน้ำยางพาราที่มาจากป่าที่ถูกบุกรุก โดยคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดการภัยพิบัติ และภาวะโลกร้อน ได้รายงานความคืบหน้าแนวทางการบริหารจัดการยางพาราในกำกับดูแลของรัฐบาลประมาณ 30 ล้านไร่เศษ มีพื้นที่ถูกบุกรุกที่ดำเนินคดีแล้ว 226,000 ไร่ โดยรัฐได้รื้อถอนต้นยางที่ผิดกฎหมาย

พ.อ.หญิง ศิริจันทร์กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันจะบังคับใช้กฎหมายต่อกลุ่มนายทุนที่มีการบุกรุกอย่างเคร่งครัด เป้าหมาย 1.2 ล้านไร่เศษ จะดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2564 โดยร่วมมือกับกระทรวงทรัพย์ฯ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.) พร้อมกันนี้จะควบคุมพื้นที่ที่ตรวจยึดได้จากนายทุน ป้องกันไม่ให้เข้าไปใช้ประโยชน์ได้อีก นอกจากนี้ จะเข้าสำรวจการถือครองและการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ผู้บุกรุกเป็นผู้ยากไร้ เพื่อจัดระเบียบให้สามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่ตามแนวทางกฎหมาย และจะส่งเสริมลดการปลูกควบคู่การเกษตรผสมผสาน เป้าหมายในพื้นที่ 7 ล้านไร่


กำลังโหลดความคิดเห็น