กอ.รมน.ภาค 4 สน.ร่วมเฝ้าระวัง 6 เดือน เซฟตี้โซนเจาะไอร้อง พิสูจน์ตัวจริงเข้าร่วมพูดคุยสันติสุข ด้านหน่วยข่าวห่วงช่วงรอยต่อเข้าโรดแมปสันติสุขปี 63 เยาวชนขยายแนวคิดผ่านโซเชียลมีเดีย พบ นศ.2 มหา'ลัยกลางกรุงโพสต์ปลุกระดม
วันนี้ (8 พ.ค.) ที่ค่ายสิรินธร จ.ยะลา พ.อ.วัฒนา กรมขันธ์ รองผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวกำหนดอ.เจาะไอร้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย หรือเซฟตี้โซน ว่าเป็นเพียงแนวคิดที่จะต้องมีอำเภอนำร่อง 1 อำเภอเพื่อสร้างความปลอดภัย จึงมีการคิดว่าน่าจะลองใช้พื้นที่ อ.เจาะไอร้อง เพื่อดูเหตุการณ์ก่อน ส่วนการปฏิบัติยังคงใช้กำลังปกติ และกำลังจากภาคประชาชน ต้องดูว่าจากนี้ไปอีก 6 เดือนจะมีอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ โดยเริ่มตั้งแต่ปลายเดือน เม.ย.แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ 3-6 เดือนแรกจะเป็นขั้นตอนการเตรียมพื้นที่ และช่วงหลัง 6 เดือน เป็นขั้นตอนนำไปสู่เป้าหมายการกำหนดเป็นพื้นที่ปลอดภัย
“แนวคิดกำหนด อ.เจาะไอร้อง เป็นพื้นที่เซฟตี้โซน เราจะดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดในทุกเรื่อง และเมื่อครบกรอบเวลาที่กำหนดจะเพิ่มเติมมาตรการต่างๆลงไปอย่างเต็มที่ ส่วนจะลดการก่อเหตุความรุนแรงเป็นศูนย์ได้หรือไม่นั้น ต้องเข้าใจว่าพื้นที่ดังกล่าวกำหนดขึ้นเพื่อแสดงความไว้วางใจทั้งสองฝ่าย ในส่วนของรัฐจะต้องไม่นำกำลังทหารหรือดำเนินการใดๆ เพื่อก่อให้เกิดปัญหา ในขณะที่กลุ่มผู้เห็นต่างจะต้องไม่ให้เกิดเหตุการณ์ใดๆ ด้วยเช่นกัน ส่วนเหตุการณ์ทั่วไปต้องสามารถพิสูจน์ทราบได้ แม้ว่าจะมีแนวคิดให้ อ.เจาะไอร้อง เป็นพื้นที่เซฟตี้โซน แต่การดูแลรักษาความปลอดภัยยังคงจำเป็นต้องอาศัย พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 และพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ถือเป็นคนละส่วนกัน ทั้งนี้พื้นที่นำร่องจะมาจากการกำหนดของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น ซึ่งต้องนำไปทดลองก่อน” พ.อ.วัฒนากล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า กระบวนการพูดคุยอยู่ในขั้นตอนการสร้างความไว้วางใจ รวมถึงประชาชนทุกหมู่เหล่า และขณะนี้มีกลุ่มผู้เห็นต่างหลายกลุ่ม ยืนยันว่าเป็นตัวจริงเสียงจริง สามารถควบคุมการปฏิบัติการในพื้นที่ได้ เรื่องดังกล่าวหากขยายเวลาการพูดคุยออกไปจะทำให้เราเห็นว่ากลุ่มไหนเป็นตัวจริง กลุ่มไหนมีผลประโยชน์แอบแฝงซึ่งยังต้องพิสูจน์กันต่อไป
ขณะที่ พ.อ.สุภกิจ รู้หลัด รอง ผอ.สำนักข่าว กอ.รมน.ภาค 4 สน.กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงในห้วงที่จะเข้าสู่โรดแมปที่ 3 ในขั้นตอนการสร้างสันติสุข ที่ตั้งเป้าหมายไว้ในปี 2563 ถือเป็นช่วงรอยต่อ คือ การที่ขบวนการก่อความไม่สงบจะใช้กลุ่มเครือข่ายเยาวชน เพื่อกระจายข่าวผ่านโซเชียลมีเดีย ที่อาจขยายผลก่อความรุนแรง โดยการข่าวพบว่าใน กทม.มีเยาวชนใน 2 สถาบันการศึกษาที่ต้องเฝ้าระวังใช้เป็นพื้นที่ปลุกระดมแนวร่วมและยังพบข้อมูลการโพสต์โซเชียลฯ ในเยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัดใช้ภาคใต้ หรือกลุ่ม Permas ซึ่งเป็น 1 ใน 28 กลุ่มเฝ้าระวัง โดนต้องใช้ยุทธวิธีทางด้านการข่าวที่ไม่เปิดเผยเข้าไปสร้างความเข้าใจกับเยาวชน เพราะไม่มีหลักฐานชี้ชัดในแง่ตัวบุคคลที่จะเรียกมาปรับทัศนคติ
พ.อ.สุภกิจกล่าวต่อว่า ส่วนความเป็นห่วงที่กลุ่มไอเอสจะใช้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อขยายเครือข่ายนั้น ยืนยันว่าเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากเป้าหมายกลุ่มไอเอส คือ ตั้งรัฐอิสลาม และขณะนี้ก็มีการแบ่งแยกออกเป็นหลายกลุ่ม ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวคนไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาตใต้เข้าไปเกี่ยวข้องนั้น จาการตรวจสอบพบว้าเป็นการโพสต์ในเฟซบุ๊กเท่านั้น ยืนยันว่าประเทศไทยไม่ใช่พื้นที่สนับสนุน และไอเอสไม่มีโอกาสเข้ามาอิทธิพลเหนือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐดูแลพื้นที่อย่างเข้มข้น