xs
xsm
sm
md
lg

ทภ.4 แจงแค่แนวคิด นำคนโครงการพาคนกลับบ้านไปอยู่หมู่บ้านจุฬาภรณ์ 12

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ต.วัลลภ ฐิติกุล รองแม่ทัพภาคที่ 4 (แฟ้มภาพ)
ทภ.4 แจงนำคนในโครงการพาคนกลับบ้านไปอยู่หมู่บ้านจุฬาภรณ์ 12 สุคิริน ยังเป็นเพียงแนวความคิด เผย มทภ.4 ตั้งคณะทำงานศึกษารายละเอียด หลังมีข่าวชาวบ้านในพื้นที่คัดค้าน เหตุหวั่นไม่ปลอดภัย ขณะที่รอง มทภ.4 ระบุต้องดูแลซึ่งกันและกัน ชี้มีแต่คนแก่น่าสงสาร

วันนี้ (8 พ.ค.) ที่ค่ายสิรินธร จ.ยะลา พล.ต.วัลลภ ฐิติกุล รองแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวถึงการดูแลแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ขณะนี้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนยังใช้ชีวิตปกติ แต่ละวันมีคดีความมั่นคงเกิดขึ้นไม่มาก หรือเรียกได้ว่าน้อยมาก เพราะเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายพลเรือนร่วมกันดูแลพื้นที่อย่างเข้มงวด เราทำงานร่วมกันอย่างเข้มข้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในพื้นที่ ประชาชนสามารถทำมาหากินได้และลูกหลานได้รับการศึกษาอย่างดี ส่วนกรณีที่มีกระแสต่อต้านการแบ่งพื้นที่หมู่บ้านจุฬาภรณ์ 12 อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ให้กลุ่มคนที่เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้านนั้นเบื้องต้นเรื่องนี้ยังเป็นแนวความคิด แต่เหตุผลที่มีการเสนอหมู่บ้านจุฬาภรณ์ 12 นั้น เพราะมีพื้นที่เพียงพอ ส่วนใหญ่เป็นคนแก่ที่น่าสงสาร และเป็นคนไทยทั่วไปที่เคยหวาดระแวงเจ้าหน้าที่รัฐที่ไปอยู่ต่างถิ่น วันนี้รัฐมีช่องทางก็อยากกลับมาเพื่อออกบัตรเป็นคนไทย แต่เมื่อมาแล้วไม่มีที่ทำกิน และจะให้อยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานีไปตลอดก็ไม่ได้ เราต้องมีมาตรการดูแล และลูกหลานต้องได้รับการศึกษา ทั้งนี้เราต้องเห็นใจซึ่งกันและกัน

ด้าน พ.อ.ธนาวีย์ สุวรรณรัฐ หัวหน้าศูนย์ประขาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กล่าวถึงการดำเนินงานในโครงการพาคนกลับบ้านว่าในปี 61 ทาง พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 มีนโยบายคือไม่เน้นปริมาณ แต่เน้นคุณภาพ เพราะต้องการคนที่เป็นตัวจริงเสียงจริงเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันกองทัพภาคที่ 4 มีบัญชีรายชื่อผู้ก่อเหตุความรุนแรง จำนวน 7,300 คน แยกตามการกระทำความผิด 2 ลักษณะ คือ กลุ่มมีหมาย ป.วิอาญา และกลุ่มสนับสนุนที่ถือเป็นกลุ่มเฝ้าระวัง ส่วนกลุ่มที่เข้าโครงการพาคนกลับบ้าน แบ่งเป็นเป้าหมายทั่วไปคือผู้ต้องหาที่กระทำความผิดสร้างความรุนแรงในประเทศ จำนวน 288 คน และกลุ่มนอกประเทศที่หลบหนีออกนอกประเทศไปเมื่อ 20-30 ปีแล้วเพราะหวาดระแวงเจ้าหน้าที่รัฐ จำนวน 228 คน ซึ่งมีการคัดเลือกแล้ว เหลือเพียง 224 คน จากนั้นมีการฝึกอาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิต และจัดหาที่อยู่อาศัยถาวร รวมถึงพื้นที่ทำกินให้ ซึ่งตอนนี้มีคนยืนยันให้รัฐช่วยแล้วจำนวน 105 คน โดยเบื้องต้นรัฐมีแนวคิดใช้พื้นที่หมู่บ้านจุฬาภรณ์ 12 ส่วนที่เหลือจะกลับไปอาศัยบ้านญาติของตนเอง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้แม่ทัพภาคที่ 4 ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาในเรื่องนี้ เนื่องจากมีกระแสข่าวคนในพื้นที่ต่อต้าน เพราะมีความเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย แต่คนที่จะไปอยู่นี้มีแต่คนแก่และเด็ก และตอนนี้ยังไม่ได้ไปอยู่จริง


กำลังโหลดความคิดเห็น