อดีต กกต. มอง 5 ว่าที่ กกต. ชุดใหม่ ขาดความหลากหลาย เป็นที่อยู่ผู้เกษียณอายุราชการ ซ้ำกระบวนการคัดสรรรวบรัดไม่เหมาะสมกับการคัดเลือกคนไปทำหน้าที่สำคัญของบ้านเมือง
วันนี้ (3 พ.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. กล่าวแสดงความยินดีต่อผู้ได้รับการคัดเลือกจากกรรมการสรรหาเป็น กรรมการการเลือกตั้ง จำนวน 5 คน เชื่อว่า ทุกท่านเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสม แต่ก็ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับกระบวนการและผลการสรรหาว่าผู้ผ่านการสรรหา 4 ใน 5 คน มาจากคุณสมบัติตาม พ.ร.ป. ว่าด้วย กกต. มาตรา 8(1)(ก) คือ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการมาไม่น้อยกว่า 5 ปี อีก 1 คน มาจากมาตรา 8(1)(ค) คือ ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ไม่น้อยกว่า 5 ปี แต่ไม่มีผู้ที่มีคุณสมบัติในวงเล็บอื่นๆ เข้ามา เช่น (ข) ผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ (ง) ผู้ประกอบวิชาชีพที่มีใบรับรองจากองค์กรวิชาชีพ เช่น ทนาย ครู (จ) ผู้มีความรู้ชำนาญการด้านบริหาร (ช) ภาคประชาสังคม ทำให้ กกต. ชุดนี้ ขาดความหลากหลาย และ กลายเป็นที่อยู่ของผู้เกษียณอายุจากราชการ
นอกจากนี้ เห็นว่า กระบวนการในการคัดเลือ ให้บุคคลที่ผ่านคุณสมบัติจำนวนทั้งหมด 24 คน จาก 33 คน มีการให้เข้าแนะนำตัวคนละ 5 นาที และ ตอบคำถามคนละ 5 นาที รวม 10 นาทีต่อคน เริ่มประชุมตอนเช้า สัมภาษณ์เสร็จประมาณ 14.15 น. หลังจากนั้น ลงคะแนนเลือกให้ได้คะแนน 2 ใน 3 คือ 5 เสียงขึ้นไป ประกาศผลเป็นเอกสารออกมาในเวลาประมาณ 16.30 น. จึงน่าจะเป็นการใช้การวินิจฉัยของกรรมการสรรหาที่ค่อนข้างรวบรัดไม่เหมาะสมกับการคัดเลือกบุคคลไปดำรงตำแหน่งหน้าที่สำคัญของบ้านเมือง อีกทั้งตามมาตรา 12 วรรคสามของ พ.ร.ป. ว่าด้วย กกต. กำหนดให้การลงคะแนนของกรรมการสรรหาต้องลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องบันทึกเหตุผลของการลงมติ แต่ในเอกสารที่แถลงระบุเพียงว่า ผู้ผ่านการคัดเลือกได้คะแนนถึงสองในสามเท่านั้น ดังนั้น ผู้มีส่วนได้เสีย คือ ผู้สมัครที่ไม่ผ่านการคัดเลือก ควรขอใช้สิทธิในการดูผลการลงคะแนนที่ตนเองได้รับ และ ผลการลงคะแนนของผู้ที่ได้รับการคัดเลือก