xs
xsm
sm
md
lg

ศาล รธน.นัด 23 พ.ค.ลงมติร่าง กม.ส.ว.ขัด รธน. ยืดเวลาแจงปมคำสั่ง คสช.ถึง 11 พ.ค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศาลรัฐธรรมนูญเผยเตรียมนัดลงมติร่างกฎหมาย ส.ว. ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ 23 พ.ค.นี้ ขยายเวลาหัวหน้า คสช.แจงปมออกคำสั่ง คสช.53/2560 ขัดรัฐธรรมนูญถึง 11 พ.ค.

วันนี้ (2 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้เผยแพร่เอกสารข่าวระบุว่า กรณีที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่งความเห็นของสมาชิกสนช. จำนวน 30 คน ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 263 ว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. บทเฉพาะกาล มาตรา 91, 92, 93, 94, 95 และมาตรา 96 ที่กำหนดให้ในวาระเริ่มแรกของ ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 ซึ่งมีการกำหนดจำนวนกลุ่มผู้สมัคร วิธีการสมัคร และกระบวนการเลือกในบทเฉพาะกาลดังกล่าวได้กำหนดไว้แตกต่างไปจากการได้มาซึ่ง ส.ว.ตามบททั่วไป มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่ ศาลได้พิจารณาความเห็นเป็นหนังสือของประธาน กรธ.นายกิตติ วะสีนนท์ สนช.ซึ่งเป็นผู้แทนของฝ่ายเสนอความเห็น นายสมชาย แสวงการ ผู้แทน สนช.ที่ลงมติเห็นชอบในวาระสาม ประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.ได้ส่งความเห็นให้ศาลตามระยะเวลาที่กำหนด แล้ว มีคำสั่งรับรวมไว้ในสำนวน ต่อจากนั้นศาลได้กำหนดประเด็นและอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย โดยนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติในวันพุธที่ 23 พ.ค.นี้

ส่วนกรณีที่ประธาน สนช.ส่งความเห็นของสมาชิกสนช.จำนวน 27 คน ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 263 ว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 35 (4) และ (5) มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 95 วรรคสาม และมาตรา 92 วรรคหนึ่งของร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าว มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 85 หรือไม่ ศาลก็ได้พิจารณาความเห็นเป็นหนังสือของประธาน กกต.นายปรีชา วัชราภัย สนช.ตัวแทนผู้เสนอความเห็น ประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ได้ส่งความเห็นเป็นหนังสือและข้อมูลที่เกี่ยวข้องภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้ว มีคำสั่งรับรวมไว้ในสำนวน และได้กำหนดประเด็นอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย โดยนัดอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยต่อในวันพุธที่ 23 พ.ค.นี้

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณากรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน เสนอเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 231 (1) ว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 140 และมาตรา 141 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 25, 26, 27 และมาตรา 45 หรือไม่ จากกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ร้องเรียนผู้ตรวจการฯ ว่าคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งผู้ร้องพิจารณาแล้วเห็นว่าคำสั่งหัวหน้า คสช.ดังกล่าว มีสถานะเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และบทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้รับรองและคุ้มครองการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งมีลักษณะเป็นการเพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ผู้ร้องจึงเสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย โดยประธาน กกต. นายอภิสิทธิ์ พล.ต.ท.วิโรจน์ ได้ส่งความเห็นต่อศาลภายในระยะเวลาที่กำหนด ศาลพิจารณาความเห็นเป็นหนังสือ มีคำสั่งให้รวบรวมไว้ในสำนวน ส่วนกรณีหัวหน้า คสช.ขอขยายระยะเวลาในการส่งความเห็นเป็นหนังสือและข้อมูลที่เกี่ยวข้องเป็นวันศุกร์ที่ 11 พ.ค.นั้น ศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายตามคำขอ และนัดอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยในวันพุธที่ 23 พ.ค.


กำลังโหลดความคิดเห็น