xs
xsm
sm
md
lg

“วิลาศ” จ่อยื่น ป.ป.ช.สอบเหมาศุลกากร DSI อัยการ ปมสั่งไม่ฟ้องรถตู้หรูเลี่ยงภาษี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อดีต ส.ส.กทม. เตรียม ยื่น ป.ป.ช. สอบกราวรูด ทั้ง เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร ดีเอสไอ อัยการ ปมสั่งไม่ฟ้องรถตู้หรูเลียงภาษี 554 คัน ทำรัฐเสียหายมโหฬาร



วันนี้ (29 เม.ย.) นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวกรณีรถหรู แต่ภาษีนำเข้า 0% ใครได้ใครเสีย โดยระบุว่า ในวันพุธที่ 2 พฤษภาคม จะยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบกระบวนการสอบสวนกรณีรถหรูเลี่ยงภาษี เนื่องจากเห็นว่าทางเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร DSI และอัยการที่สั่งไม่ฟ้องเป็นกระบวนการตรวจสอบที่ไม่ถูกต้อง และอาจมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องกรณีมีการนำรถเข้ามา 190 ใบขน จำนวน 554 คัน โดยมีการหลีกเลี่ยงภาษีจากช่องว่างของระเบียบใช้วิธีการ สำแดงว่าเป็นรถ 11 ที่นั่ง แต่นำเข้ารถ 2 ที่นั่ง และมีการประกอบเป็นรถยนต์ 7 ที่นั่ง ในพื้นที่เขตปลอดอากร เพื่อใช้สิทธิ์ไม่เสียภาษีอากรนำเข้า 40% เนื่องจากตามประกาศกรมศุลกากรที่ 72/2550 เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2550 ได้ระบุไว้ว่า รถยนต์ที่ประกอบหรือดัดแปลงจากวัสดุภายในประเทศเกิน 40% ไม่ต้องเสียภาษีอากรนำเข้า ทำให้รัฐเสียรายได้กว่า 2 พันล้านบาท แต่กรมศุลกากรกับอ้างว่าตรวจสอบเฉพาะเอกสารไม่ได้ดูข้อเท็จจริงขณะที่ DSI และอัยการก็ไม่ฟ้องจึงเห็นว่ากระบวนการตรวจสอบมีปัญหา ทั้งนี้นอกจากยื่น ป.ป.ช. แล้ว กำลังพิจารณาด้วยว่า จะยื่นคำร้องถึง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้มีการตรวจสอบเรื่องนี้ด้วยหรือไม่

นายวิลาศ กล่าวว่า ได้รับการร้องเรียนจากเจ้าหน้าที่ดีเอสไอและกรมศุลกากรที่ไม่เห็นด้วยกับการตรวจสอบดังกล่าว และเรื่องนี้เป็นคดีความมีคนไปร้องดีเอสไอตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย. 52 จากนั้นดีเอสไอมีการตั้งกรรมการสอบถึงสี่ครั้ง รับเป็นคดีพิเศษที่ 10/54 ในช่วงเดือนธันวาคมปี 2553 แต่ต่อมามีการสั่งยกฟ้องในวันที่ 8 ธันวาคม 2560 ทั้งที่มีพิรุธในหลายเรื่อง โดยขอตั้งข้อสังเกต ดังนี้

1. ไม่มีการนำวัตถุดิบไปผ่านกระบวนการผลิตที่ทำให้เห็นว่าเป็นกระบวนการผลิตที่ยาก เพราะยกมาติดตั้ง อีกทั้งกระบวนการไม่ใช่ผลิตอย่างง่ายตามที่ระเบียบกำหนดต้องให้หน่วยงานรัฐรับรองเช่น สถาบันยานยนต์ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าบริษัทไม่เคยขอให้รับรองกระบวนการผลิตที่เป็นสาระสำคัญของรถยนต์ตู้เลย แต่ในรายงานของดีเอสไอระบุว่ามี 20 กว่าเรื่องที่ให้สถาบันยานยนต์รับรอง จึงสงสัยว่าที่ดีเอสไอบอกว่ามีหนังสือรับรองป็นหนังสือรับรองเรื่องอะไร

2. ราคาการผลิตที่อ้างว่า 40% เพื่อเลี่ยงภาษี คิดว่าน่าจะเป็นราคาที่ฉ้อฉลกำหนดราคาแพงเกินจริง เช่น บางรายการไม่ควรนำมาเป็นค่าวัสดุ คือกำไรแต่กลับนำมาคิดเป็นค่าวัสดุซึ่งไม่ถูกต้อง
3. การที่กรมศุลกากรอ้างว่าไม่ได้ดูข้อเท็จริงตรวจจากเอกสารเท่านั้น เป็นพฤติกรรมเอาตัวรอดหรือไม่
4. กรมศุลกากร ดีเอสไอ อัยการและกรมการขนส่ง ไม่ทราบเลยหรือว่าการทำอย่างนี้ทำให้รัฐเสียหายขาดรายได้เท่าไหร่ และที่สั่งไม่ฟ้องโดยอ้างว่าบริษัท ไทยยานยนต์ กับบริษัท คิงส์ตัน ร่วมกันทำวิจัยโดยใช้เทคโนโลยีในการออกแบบเพื่อให้ได้มาตรฐานสากล มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องกระบวนการผลิตถือว่ามีสารสำคัญไม่ใช่กระบวนการผลิตอย่างง่ายนั้น อยากฝากถามถึงผู้เกี่ยวข้องว่า ไม่ทราบหรือว่าสองบริษัทนี้เปนบริษัทเดียวกัน ใช้ที่อยู่เดียวกัน และที่บอกว่าใช้เทคโนโลยีชั้นสูงคืออะไร เพราะเป็นการจ้างผลิตธรรมดาเท่านั้น อีกทั้งมีข้อน่าสังเกตว่าระหว่างที่คดีนี้อยู่ในขั้นตอนการสอบสวน กลับมีการขออนุญาตตั้งเขตปลอดอากรใหม่ และได้รับอนุมัตเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 54 ทั้งที่ยังเป็นคดีค้างอยู่ ทำให้สงสัยว่าเป็นเพราะรู้เป็นการภายในว่าจะรอดใช่หรือไม่

“รถโฟล์คตู้ไม่เสียภาษีเลยแม้แต่บาทเดียว ราคานำเข้า 1.2 ล้านบาทเศษ แต่ขาย 3 ล้านบาทเศษ ที่น่าสังเกตคือเวลาซื้อรถโฟล์คตู้ ออกบิลใบหนึ่งเป็นค่ารถ อีกใบหนึ่งป็นค่าตกแต่งอุปกรณ์ ไม่ทราบว่าที่ทำแบบนี้เพราะต้องการเลี่ยงการถูกฟ้องว่าผู้ซื้อเป็นคนจ้างตกแต่งไม่เกี่ยวกับบริษัทหรือไม่ เพราะธรรมดาซื้อรถก็มีบิลเดียว จึงทำให้เกิดความสงสัย” นายวิลาศ กล่าว

อดีต ส.ส. กทม. กล่าวด้วยว่า นอกจากเรื่องรัฐเสียรายได้จากภาษีนำเข้าแล้วยังกระทบภาษีป้ายด้วย เพราะกฎหมายเขียนว่ารถ 11 ที่นั่ง ป้ายทะเบียนจะเป็นพื้นขาวตัวหนังสือสีฟ้า เสียภาษีป้าย 1,900 บาทรถ 7 ที่นั่งพื้นสีขาวตัวหนังสือสีดำ เสียภาษีป้ายตามซีซีของรถราว 4,000-8,000 บาทต่อปี แต่เมื่อมีการดัดแปลงรถโดยสำแดงว่าเป็นรถ 11 ที่นั่ง ทั้งที่เป็นรถ 7 ที่นั่ง ก็จะเสียภาษีน้อยลง ทำให้รัฐเสียหายจำนวนมาก



กำลังโหลดความคิดเห็น