เปิดข้อเสนอ “มิลค์บอร์ด” หลัง ครม. รับทราบ ข้อเสนอป้องกันโกงนมโรงเรียนเทอมใหม่ สั่งเพิ่ม 2 เงื่อนไข ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม - จำหน่าย ใช้บริหารน้ำนมดิบให้เข้าสู่ระบบภาคเรียนต่อภาคเรียนในอนาคต กำหนดจัดสิทธิพื้นที่จำหน่ายนมโรงเรียนในลักษณะการจับคู่ “ที่ตั้งโรงงานกับที่ตั้งโรงเรียน” หวังลดระยะเวลาขนส่ง รักษาคุณภาพนมพาสเจอร์ไรส์ให้มีคุณภาพมากขึ้น
วันนี้ (23 เม.ย.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (17 เม.ย.) เห็นชอบตามที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน โดยเป็นการกำหนดเงื่อนไขการจัดสรรสิทธิสอดคล้องกับข้อแนะนำเพื่อป้องกันการทุจริตกรณีโครงการนมโรงเรียนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และข้อเสนอของคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ทั้งนี้ หลังจาก นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง พาณิชย์ มหาดไทย สาธารณสุข ศึกษาธิการ อุตสาหกรรม สภาพัฒน์ มิลค์บอร์ด ศึกษาแนวทางและความเหมาะสม โดยให้กระทรวงเกษตรฯ จัดทำรายงานผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการในภาพรวมส่งให้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี
โดยภายหลังคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) ได้อนุญาตให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม สามารถนำน้ำนมดิบไปผลิตเป็นนมกล่องชนิด ยูเอชที ในช่วงปิดภาคเรียนที่ 2/2560 ได้จำนวนไม่เกิน 60 วัน ภายใต้เงื่อนไขที่จะใช้บริหารน้ำนมดิบให้เข้าสู่ระบบภาคเรียนต่อภาคเรียนในอนาคต ดังนี้
ข้อ “6.5.8 กรณีผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม ผลิตเพื่อจำหน่ายนมโรงเรียนข้ามภาคเรียนต้องใช้น้ำนมที่มีคุณภาพตามข้อ 6.5.2 และ 6.5.3 ซึ่งมีการสุ่มตรวจคุณภาพน้ำนมดิบที่ใช้ผลิตโดยกรมปศุสัตว์ และตรวจสอบผลิตภัณฑ์นมโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา / สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โดยสามารถผลิตนมชนิด ยูเอชที ได้ในปริมาณน้ำนมดิบตามสิทธิที่ได้รับการจัดสรรในภาคเรียนที่ 2/2560 ไม่เกิน 30 วัน ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมได้ใช่สิทธิครบจำนวนที่ได้รีบการจัดสรรแล้ว แต่มีการผลิตนมโรงเรียนข้ามภาคเรียนชนิด ยูเอชที เกินกว่าปริมาณน้ำนมดิบที่ได้รับการจัดสรรนั้น จะต้องนำปริมาณน้ำนมดิบที่ใช้ผลิตนมข้ามภาคเรียนดังกล่าว มาหักลดสิทธิที่จะได้รับการจัดสรรในภาคเรียนที่ 1/2561”
กล่าวคือ ในภาคเรียนที่ 2/2560 (1 พ.ย. 60 - 15 พ.ค. 61) คณะอนุกรรมการบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ได้จัดสรรน้ำนมดิบให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมวันละ 1,169 ตัน จากที่จะต้องจัดสรรให้ในจำนวนวันละ 1,008 ตัน เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์นมส่งให้โรงเรียนในจำนวน 130 วัน ซึ่งผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมต้องรับผิดชอบน้ำนมดิบของเกษตรกรในภาคเรียนที่ 2/2560 จำนวน 196 วัน ดังนั้น จะมีวันที่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมจะต้องรับผิดชอบน้ำนมดิบอีก 66 วัน แต่เมื่อหักวันเสาร์และอาทิตย์จำนวน 37 วันแล้ว จะเหลือไม่ถึง 30 วัน
“ดังนั้น จึงมีการอนุญาตให้ดำเนินการผลิตเพื่อจำหน่ายนมโรงเรียนข้ามภาคเรียนได้ โดยให้ใช้น้ำนมดิบในปริมาณที่ได้รับจัดสรรแต่ละวันในภาคเรียนที่ 2/2560 รวมไม่เกิน 30 วัน และถ้าปริมาณน้ำนมดิบที่ใช้ผลิตดังกล่าวคิดรวมกับปริมาณที่ใช้ผลิตในภาคเรียนที่ 2/2560 แล้วเกินสิทธิที่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมได้รับจัดสรรในภาคเรียนที่ 2/2560 จะต้องถูกลดสิทธิตามปริมาณน้ำนมดิบที่นำไปผลิตเป็นนมกล่องชนิด ยูเอชที สำหรับภาคเรียนที่ 1/2561 โดยสิทธิที่ถูกลดนั้นผู้ประกอบการสามารถที่จะรับการจัดสรรคืนกลับไป ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะอนุกรรมการบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ภายใต้หลักเกณฑ์ที่คณะอนุกรรมการวิชาการโคมนมและผลิตภัณฑ์นมกำหนด”
ข้อ “6.5.9 กรณีผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่จะผลิตนมโรงเรียนจำหน่ายในภาคเรียนที่ 1/2561 ให้ผลิตได้ไม่เกิน 30 วัน ก่อนเปิดภาคเรียน (นมชนิด ยูเอชที 30 วัน นมชนิดพาสเจอร์ไรส์ 3 วัน) ต้องใช้น้ำนมที่มีคุณภาพตามข้อ 6.5.2 และ 6.5.3 ซึ่งมีการสุ่มตรวจสอบคุณภาพน้ำนมดิบที่ใช้ผลิตโดยกรมปศุสัตว์ และตรวจสอบผลิตภัณฑ์นมโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา / สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ทั้งนี้ ปริมาณนมโรงเรียนที่ผลิตช่วงดังกล่าว ต้องสอดคล้องตามปริมาณนมที่ได้รับจัดสรรสิทธิในแต่ละวัน สำหรับภาคเรียนที่ 1/2561 และจะต้องนำมาหักออกจากปริมาณที่ได้รับการจัดสรรในแต่ละวันเท่ากับจำนวนที่ใช้ไป”
กล่าวคือ ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมสามารถที่จะดำเนินการผลิตนมโรงเรียนเพื่อจำหน่ายในภาคเรียนที่ 1/2561 ไว้ล่วงหน้าได้ แต่จะต้องไม่เกิน 30 วัน โดยปริมาณที่ใช้นั้นจะต้องเป็นไปตามสิทธิที่ได้รับจัดสรรในภาคเรียนที่ 1/2561 และจะต้องมีการนำนมดิบตามจำนวนที่ใช้ผลิตดังกล่าวออกจากระบบนมโรงเรียนภาคเรียนที่ 1/2561 เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสะสมน้ำนมดิบต่อเนื่องไปยังช่วงปิดภาคเรียน 1/2561
มติ ครม. ยังระบุถึงประกาศคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมดังกล่าว ยังได้กำหนดเงื่อนไขในการจัดสิทธิพื้นที่การจำหน่ายนมโรงเรียนในลักษณะของการจับคู่ระหว่างพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตภัณฑ์นม กับพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของโรงเรียนซึ่งรับนม โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ ลดระยะเวลาการขนส่งผลิตภัณฑ์นม เพื่อเป็นการรักษาคุณภาพของนม โดยเฉพาะนมพาสเจอร์ไรส์ในการขนส่งให้มีคุณภาพมากขึ้น