xs
xsm
sm
md
lg

สมาคมรถตู้โดยสารสาธารณะร้องศาล ปค.แก้ปัญหาจัดระเบียบรถตู้ไม่เป็นธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เลขาฯ สมาคมองค์การพิทักษ์ รธน. นำสมาชิกสมาคมรถตู้โดยสารสาธารณะ ร้องศาลปกครองแก้ไขปัญหาจัดระเบียบรถตู้ไม่เป็นธรรม

วันนี้ (3 เม.ย.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย พร้อมด้วยสมาชิกสมาคมธุรกิจรถตู้ต่างจังหวัดและผู้โดยสาร จำนวน 731 คน เดินทางมายื่นฟ้องอธิบดีกรมการขนส่งทางบก, คณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลาง, คณะกรรมการแก้ไขปัญหารถตู้โดยสาร และบริษัท ขนส่ง จำกัด ต่อศาลปกครองกลาง ว่าต่างละเลยหน้าที่ที่จะแก้ไขปัญหาให้กับผู้โดยสาร และผู้ประกอบการรถตู้ต่างจังหวัด เจตนาที่จะฝ่าฝืนมาตรา 40 มาตรา 43 (3) รัฐธรรมนูญ 2560, พ.ร.บ.การขนส่งทางบก 2522 และ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 2534 และแก้ไขเพิ่มเติมด้วย โดยขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดียกเลิกการบังคับให้รถตู้โดยสารสาธารณะ หมวด 2 (ต) และ (ช) รับ-ส่งผู้โดยสารเฉพาะสถานีต้นทางและปลายทาง และให้สามารถรับ-ส่งผู้โดยสารได้ระหว่างทาง และยกเลิกการจำกัดอายุการใช้รถตู้โดยสารสาธารณะทุกหมวดที่กำหนดไว้ 10 ปี รวมทั้งขอให้ศาลสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีระงับการรวมศูนย์สถานีรับ-ส่งผู้โดยสารไปอยู่ยังสถานีขนส่งต่างๆ ของบริษัท ขนส่ง จำกัด และระงับมาตรการจัดระเบียบการจัดจำหน่ายตั๋วรถตู้โดยสารโดยไม่มีการประมูลหรือจัดซื้อจัดจ้างตามกฎหมาย

นายศรีสุวรรณกล่าวว่า ตามที่รัฐบาลโดยกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม มีนโยบายการจัดระเบียบรถตู้โดยสาร โดยเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2559 ได้เริ่มแผนจัดระเบียบรถตู้โดยสารสาธารณะหมวด 2 ที่วิ่งให้บริการเส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ ไปยังต่างจังหวัด ระยะทางไม่เกิน 300 กิโลเมตร ต้องย้ายสถานที่จอดรถรับ-ส่งผู้โดยสารที่อยู่กระจัดกระจายทั่วไป โดยเฉพาะที่บริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ให้ย้ายไปใช้สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ สถานีขนส่งจตุจักร (หมอชิต), สถานีขนส่งสายใต้ (ปิ่นเกล้า) และสถานีขนส่งเอกมัย ให้เป็นจุดจอดรับส่งผู้โดยสาร รวม 4,205 คันนั้น ตลอดระยะเวลาของการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา รัฐบาลโดยกรมการขนส่งทางบก ไม่ได้ตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการจัดระเบียบแต่อย่างใด หากแต่กลับเพิ่มปัญหาให้มากขึ้น ทำให้กระทบกระเทือนต่อสิทธิของผู้โดยสาร และกระทบต่อการประกอบอาชีพโดยสุจริตของผู้ประกอบการรถตู้ต่างจังหวัด เช่น การยกเลิกรถ Shuttle bus ที่อ้างว่าจะวิ่งให้บริการรับส่งฟรี ในเส้นทางอนุสาวรีย์ชัยฯ ไปยังสถานีขนส่งผู้โดยสารทั้ง 3 แห่ง การให้เปลี่ยนรถตู้เป็นรถไมโครบัส ซึ่งอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทรถไมโครบัส การไม่ยอมชำระเงินค่าเช่าที่จอดให้เจ้าของที่ดินบริเวณตรงข้ามฟิวเจอร์พาร์ครังสิต จนเจ้าของที่ดินขึ้นป้ายห้ามใช้ที่ดิน 3 เมษายน 2561 นี้ การให้เอกชนมาทำหน้าที่ขายตั๋วร่วมหักหัวคิวผู้ประกอบการ 10% การไม่อนุญาตให้ผู้ประกอบการรถตู้รับ-ส่งผู้โดยสารระหว่างทาง ฯลฯ เป็นละเลยหน้าที่ที่จะแก้ไขปัญหาให้กับผู้โดยสาร และผู้ประกอบการรถตู้ต่างจังหวัด ไม่เป็นไปตามคำโฆษณาชวนเชื่อ เมื่อครั้งมีนโยบายย้ายรถตู้มารวมกันอยู่ที่สถานีขนส่งแต่อย่างใด





กำลังโหลดความคิดเห็น