xs
xsm
sm
md
lg

คนชราเฮ! รับโอน “เบี้ยผู้สูงอายุ” งวดฉลองสงกรานต์แล้ว 1.5 หมื่นล้าน พ่วง “บัตรคนจน” จี้ อปท.ให้สิทธิพ่วงไม่ผิดระเบียบ มท.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คนชราเฮ! รับ “เบี้ยผู้สูงอายุ” พ่วง “บัตรคนจน" กถ.จี้ อปท.ทั่วประเทศ ให้สิทธิพ่วงได้ ไม่ผิดระเบียบมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ปี 2552 กำหนดต้องห้ามผู้มีสิทธิรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ กรณีไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานรัฐ เผยเงินชรางวด 3 ฉลองสงกรานต์ โอน อปท.76 จังหวัด แล้ว 1.5 หมื่นล้านบาท เป้าหมาย 7.6 ล้านคน

วันนี้ (26 มี.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย ว่าเมื่อเร็วๆ นี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หลายแห่งมีหนังสือหารือมายังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (กถ.) ถึงระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังขพผู้สูงอายุของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 กรณีการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพคนชรา กับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) หลังจาก มีการเบิกจ่ายให้กับผู้สูงอายุ ที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และให้ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทั้ง 2 กรณีด้วย ถือว่าเป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ และทำให้ขาดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ตามข้อ 6 (4) ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 หรือไม่

โดยล่าสุด กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (กถ.) ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อชี้แจง กรณีคุณสมบัติของผู้มีสิทธิรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทั้งนี้ กถ.พิจารณาแล้วเห็นว่า สิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพของผู้สูงอายุเป็นรายเดือนนั้น เป็นไปตามพระราขบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 มาตรา 11 (11) และนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศกำหนดให้หน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการสงเคราะห์เบี้ยยังชีพในสังกัดองค์กรปกครองสวนท้องถิ่น มีหน้าที่ดำเนินการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนให้แก่ผู้สูงอายุอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

“กระทรวงมหาดไทยได้วางหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไว้ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 โดยข้อ 6 (4) กำหนดลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไว้ว่า ไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ ผู้รับเงินบำนาญเบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน ผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ที่ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทนรายได้ประจำ หรือผลประโยขน์ตอบแทนอย่างอื่นที่รัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดให้เป็นประจำ ฯลฯ”

มีรายงานด้วยว่า ซึ่งสิทธิของผู้สูงอายุ ที่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพดังกล่าว จะสิ้นสุดลงเมื่อเข้าเงื่อนไขกรณีใดกรณีหนึ่งตามข้อ 14 ของระเบียบนี้ กล่าวคือ (1) ตาย (2) ขาดคุณสมบัติตามข้อ 6 และ (3) แจ้งสละสิทธิการขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นหนังสือ ต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ตนมีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

สำหรับกรณีการจัดให้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อย ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี โดยให้การช่วยเหลือเป็นบัตรสวัสดิการนำไปใช้ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น หรือก๊าซหุงต้มจากร้านค้าที่ถูกกำหนดไว้ และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการโดยสารรถโดยสารประจำทางและรถไฟ ตามที่กำหนดเท่านั้น

ส่วนกรณีการรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุนั้น ผู้สูงอายุมีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ตามที่กฎหมายกำหนดเป็นเงินเพื่อนำไปใช้จ่ายต่างๆ ได้ตามความเหมาะสมของผู้สูงอายุนั้น ซึ่งประโยชน์ที่ผู้สูงอายุจะได้รับจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในลักษณะที่กล่าวมาข้างต้น มิได้มีลักษณะเช่นเดียวกับลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

“ดังนั้น การได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจึงมิใช่ลักษณะต้องห้ามในการมีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ตามข้อ 6 (4) ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 จึงขอให้จังหวัดแจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทราบและถือปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกันต่อไป”

มีรายงานอีกว่า ขณะที่ อปท.ได้รับการโอนจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนทั่วไปโครงการสรางหลักประกันด้านรายได้แก่สูงอายุ ประจำปีงบประมาณ 2561 (งวดที่ 3 เม.ย.-มิ.ย. 2561) ให้กับ 76 จังหวัด วงเงิน 15,111,947,100 บาท เป้าหมาย 7,623,54 คน

ล่าสุด ร่างพระราชบัญญัติ ผู้สูงอายุ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ยังอยู่ในชั้นกรรมาธิการ สนช. โดยมีสาระสำคัญคือ การจ่ายเงินสงเคราะห์โดยนำเงินจากกองทุนภาษีบาป 2% จำนวน 4,000 ล้านบาทต่อปี มาเพิ่มเป็นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และต้องเป็นผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ตามที่ขึ้นทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ทั้งนี้ ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยจะได้เบี้ยยังชีพเพิ่มขึ้นอีกเดือนละ 100 บาท อาทิ เดิมคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและมีรายได้น้อย จากที่เคยได้เบี้ยยังชีพ 600 บาท เพิ่มเป็น 700 บาท อายุ 70 ปี จากเดิมได้ 700 บาท เพิ่มเป็น 800 บาท โดยจะมีผู้สูงอายุเกิน 60 ปี และไปขึ้นทะเบียนเป็นผู้มีรายได้น้อยได้รับสิทธิดังกล่าวกว่า 3 ล้านคน

ส่วนภาษีบาป 2% จะถูกนำมาเพิ่มค่าเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุจำนวน 2,400 ล้านบาทต่อปี ส่วนที่เหลืออีก 1,600 ล้านบาท จะถูกนำไปใช้เป็นสวัสดิการดูแลผู้สูงอายุ เช่น การซ่อมแซมและสร้างบ้านเรือนผู้สูงอายุ การดูแลผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง การจัดกิจกรรมของชมรมผู้สูงอายุ ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะเป็นผู้ดูแลงบประมาณในส่วนนี้





กำลังโหลดความคิดเห็น