นครพนม - หลักฐานชัด แจกเงินคนจนศูนย์คุ้มครองคนยากไร้นครพนมสุดมั่ว เฉพาะหมู่บ้านเทพนิมิต อ.นาทม สองผัวเมียทั้งป่วยเป็นโรคชรา อายุ 81 ปี และ 80 ปี ต้องใช้เหล็กค้ำเดินไม่เคยได้เงินผู้ยากไร้ ส่วนอีกรายพิการเป็นใบ้อาศัยปลูกเพิงพักซุกหัวนอนในที่ดินสาธารณะก็ไม่เคยได้เงินสงเคราะห์ มีแต่เบี้ยพิการจาก อบต.เดือนละ 800 บ้านซื้อข้าวสารกรอกหม้อ
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. ตรวจสอบพบทุจริตเบิกจ่ายเงินของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดนครพนม โดยมีชาวบ้านผู้เสียหาย 564 ราย มีการเบิกจ่ายเงินไปแล้วรวม 12 อำเภอ หรือทั้งจังหวัดรวมเป็นเงินกว่า 1.7 ล้านบาท
แต่เกิดปัญหาเนื่องจากมีการจ่ายเงินไม่ครบตามความเป็นจริง ซึ่งทาง ป.ป.ท.ได้รวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินการเอาผิดผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัด และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด
นอกจากนี้ ยังได้มีการนำหลักฐานคลิปวิดีโอและเสียงที่ชาวบ้านแอบบันทึกเป็นหลักฐานในที่ประชุม กรณีผู้อำนวยการโรงเรียนเพียงหลวง 10 บ้านเทพนิมิตร ต.หนองซน อ.นาทม ประชุมหารือกับชาวบ้านเพื่อให้ช่วยปกปิดข้อมูล กำชับให้ยืนยันว่าได้รับเงินครบตามจำนวน ถือเป็นหลักฐานสำคัญที่ทาง ป.ป.ท.จะได้นำไปประกอบการดำเนินคดีฐานความผิดให้การสนับสนุนการทุจริต
ล่าสุดผู้สื่อข่าวเดินทางไปยังหมู่บ้านเทพนิมิตรอีกครั้ง พบกับนางสุณี สุนทร อายุ 58 ปี บ้านเลขที่ 94 หมู่ 9 ซึ่งเป็นบุคคลหนึ่งที่มีชื่อเข้าร่วมจัดตั้งกลุ่มประกอบอาชีพ โดยนางสุณีเปิดเผยว่าราว 2-3 ปีก่อนมีเพื่อนบ้านชักชวนให้เข้ากลุ่มประกอบอาชีพผลิตดอกไม้ และน้ำพริกแจ่วบอง (น้ำพริกปลาร้าสับ) ตนจึงมอบเอกสารบัตรประชาชน และทะเบียนบ้านเซ็นสำเนาถูกต้อง 1 ชุดไปให้ กระทั่งวันเด็กเดือนมกราคมที่ผ่านมาก็มีการชื่อเรียกให้ออกไปรับเงินเป็นทุนประกอบอาชีพจำนวน 1,000 บาท
ตอนนั้นรู้สึกดีใจที่ได้ทุนประกอบอาชีพ พอมีเรื่องฉาวเกิดขึ้น ช่วงต้นเดือนมีนาคมเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.ก็เชิญตัวไปสอบสวนที่ อบต.หนองซน ปรากฏว่าตนมีชื่อรับเงินดังกล่าวถึง 3 ครั้ง ครั้งละ 2,000 บาท และยิ่งงงมากขึ้นไปอีกเพราะตนมีชื่อไปโผล่อยู่ในกลุ่มผู้เลี้ยงกบอีกด้วย ขอยืนยันว่าลงชื่อประกอบอาชีพแค่ผลิตดอกไม้กับน้ำพริกแจ่วบองเท่านั้น
ขณะเดียวกัน สองผัว-เมีย นายบัวลา บุตรสงการ อายุ 81 ปี และ นางนาง บุตรสงการ อายุ 80 ปี อยู่บ้านเลขที่ 20 หมู่ 9 ทั้งป่วยเป็นโรคชราอยู่แต่ในบ้าน โดยเฉพาะนายบัวลาเดินไม่ได้ ส่วนนางนางนั้นต้องอาศัยเหล็กค้ำเดินแข้งขาไม่มีแรง และไม่เคยมีเจ้าหน้าที่ออกมาสำรวจสภาพชีวิตความเป็นอยู่ จึงไม่มีชื่ออยู่ในบัญชีเป็นผู้ยากไร้
ขณะที่บางคนได้รับเงินผู้ยากไร้ แต่ฐานะทางบ้านไม่ได้เดือดร้อน จึงไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่ใช้หลักเกณฑ์อะไรมาชี้วัด
ต่อมาผู้สื่อข่าวไปยังบ้านเลขที่ 194 หมู่ 9 มีนายหนูจร ล้อมฤทธิ์ อายุ 54 ปี และ นางแต๋ว ศรีอุบล อายุ 61 ปี ภรรยาที่พิการเป็นใบ้ อาชีพรับจ้างทั่วไป โดยอาศัยอยู่ในที่ดินสาธารณะของหมู่บ้าน เนื่องจากทั้งสองไม่มีที่ดินปลูกบ้าน ทางกรรมการหมู่บ้านจึงมีมติให้มาปลูกที่พักอาศัยชั่วคราว
นายหนูจรเล่าว่า เดิมเป็นคนจังหวัดสกลนคร พบรักกับนางแต๋วหญิงใบ้ในงานงิ้ว อ.สว่างแดนดิน พื้นเพเป็นคนอุบลฯ จากนั้นก็ติดตามน้องเขยซึ่งเป็นคนบ้านเทพนิมิตรปักหลักอยู่มานานกว่า 10 ปี ยอมรับว่าได้เงินผู้ยากไร้ 1,000 บาทแค่ครั้งเดียวเมื่อปลายปี 60 ส่วนนางแต๋วนั้นได้เงินผู้พิการจาก อบต.หนองซน เดือนละ 800 บาท แต่ไม่มีรายชื่อได้รับเงินอุดหนุนสงเคราะห์ผู้ยากไร้และไร้ที่พึ่ง
สำหรับจังหวัดนครพนมมีประชาชนที่มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนสงเคราะห์ผู้ยากไร้และไร้ที่พึ่งรวมทั้งสิ้น 564 ราย จำแนกออกเป็น ผู้มีรายได้น้อย 176 ราย ทุนประกอบอาชีพ 286 ราย และผู้ป่วยติดเชื้อเอดส์ 102 ราย เฉพาะบ้านเทพนิมิตร หมู่ 9 มีชาวบ้านได้รับเงินช่วยเหลือ จำนวน 200 ราย เพราะบางคนรับเงินช่วยเหลือหลายด้าน มีทั้งส่วนตัวและแบบเป็นกลุ่มอาชีพต่างๆ
กรณีปัญหาโกงเงินคนจนที่เกิดขึ้นในจังหวัดต่างๆ นั้น เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.พบเฉพาะเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ทุจริต คือศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัด แต่ที่ อ.นาทมกลับพบเจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงอื่นเข้ามาพัวพันด้วย ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการสืบสวนว่าเข้าไปเกี่ยวข้องได้อย่างไร