xs
xsm
sm
md
lg

อนาถ! หนุ่มพิการเคราะห์ซ้ำ จนไม่พอยังถูกอมเงินสงเคราะห์คนยากไร้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายดำรง  ประกิ่ง อายุ 48 ปี หนุ่มพิการชาวนาหว้าเคยรับเงินจากศูนย์คุ้มครองคนยากไร้นครพนมเพียงครั้งเดียวเมื่อปี 60 แค่ 1,000 บาท
นครพนม - หนุ่มพิการชาวนาหว้าเผยชีวิตรันทดซุกหัวนอนในบ้านเก่าใกล้พัง อาศัยเบี้ยคนพิการเดือนละ 800 บาทประทังชีวิต ยังโชคร้ายซ้ำถูกอมเงินช่วยเหลือ ด้านผู้ใหญ่บ้านแนะศูนย์คนไร้ที่พึ่งต้องสำรวจข้อมูลคนจนในหมู่บ้านให้ทั่วแล้วค่อยจัดสรรเงินช่วยตามความเหมาะสม คนจนจริงๆ มักไม่ได้ ส่วนคนที่ได้ก็ได้ไม่ครบ

ภายหลังคณะตรวจสอบการทุจริตศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.นครพนม ของ ป.ป.ท. พบว่าพื้นที่ จ.นครพนมมีชาวบ้านผู้เสียหายจำนวน 564 รายในพื้นที่ 12 อำเภอ มากสุดคือ อ.นาหว้า มากถึง 270 ราย รองลงมาคือ อ.นาทม จำนวน 140 ราย ส่วนใหญ่มีปัญหา เจ้าหน้าที่มีการนำเอกสารไปเบิกจ่ายจริง แต่นำเงินมาจ่ายไม่ครบ โดยตามระเบียบสามารถช่วยเหลือได้ปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ ไม่เกิน 3,000 บาท แต่บางรายได้เงินเพียงรายละ 1,000-2,000 บาทต่อปี บางรายได้ประมาณ 200-300 บาท และมีบางรายไม่ได้รับเลย

ในปี 2560 ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.นครพนมได้เบิกจ่ายเงินไปทั้งสิ้น 1.7 ล้านบาท ทั้งนี้ ทาง ป.ป.ท.จะได้ใช้อำนาจทางกฎหมายเอาผิดผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.นครพนม รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องในการกระทำผิดดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.นครพนมเพิ่มเติมว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบติดตามปัญหา หลังมีชาวบ้านในพื้นที่ อ.นาหว้า จ.นครพนม ให้ข้อมูลว่ามีชาวบ้านหลายรายที่ประสบปัญหาความเดือดร้อน ฐานะยากจน เป็นผู้พิการ ที่ยังไม่เคยได้รับความช่วยเหลือ หลายรายได้รับเงินไม่ครบ จึงได้ไปสอบถามข้อเท็จจริงจาก นายสีบาล โกษาแสง อายุ 57 ปี ผู้ใหญ่บ้านอูนยางคำ หมู่ 11 ต.นาหว้า อ.นาหว้า
รถเข็นที่อยู่เก่าใกล้ผุพัง

นายสีบาล โกษาแสง อายุ 57 ปี ผู้ใหญ่บ้านอูนยางคำ หมู่ 11 ต.นาหว้า เล่าถึงขั้นตอนการมาช่วยเหลือลูกบ้านของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดนครพนมว่า มีการประสานผ่านผู้นำท้องถิ่นอยู่ 2 ส่วน ส่วนแรกการช่วยเหลือแบบกลุ่ม คือ กรณีมีการตั้งกลุ่มเพื่อประกอบอาชีพ ในหมู่บ้านตนมีอยู่ 3 กลุ่ม ได้รับเงินเมื่อปี 2560 กลุ่มละประมาณ 10,000-15,000 บาท แต่ไม่ทราบหลักเกณฑ์การพิจารณาช่วยเหลือ เมื่อนำมาให้ชาวบ้านก็ดีใจไม่ว่าจำนวนมากหรือน้อย

กลุ่มที่สองคือการช่วยเหลือเป็นรายบุคคล รายละประมาณ 1,000-2,000 บาทต่อปี ในส่วนที่เดือดร้อน พิการ หรือยากจน เช่นเดียวกันกับ นางจันทิพย์ อุปชัย อายุ 42 ปี ผู้พิการและยากจน ตรวจสอบแล้วเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมาได้รับเงินช่วยเหลือ 2,000 บาท

แต่ภายหลังจากการสอบถามชาวบ้าน หลังเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.ลงพื้นที่ตรวจสอบจึงรู้ว่ามีการนำเอกสารชาวบ้านไปเบิกจ่ายเงินรายละ 5,000 บาท แต่ชาวบ้านกลับได้แค่บางส่วน

นายสีบาลบอกว่า อยากฝากไปยังเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานเกี่ยวข้องในการตรวจสอบช่วยเหลือคนยากจน อยากให้มีมาตรฐานในการตรวจสอบคุณสมบัติ หรือควรลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพความเป็นอยู่ตามความเป็นจริง เพราะจะช่วยให้ชาวบ้านที่เดือดร้อนจริงๆ ได้รับการช่วยเหลือทั่วถึง

“ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะมีปัญหาคือ คนควรที่จะได้รับช่วยเหลือกลับไม่ได้ แต่คนที่เขาไม่เดือดร้อน สามารถพึ่งพาตัวเองได้กลับได้เงิน และควรให้เงินช่วยเหลือให้เหมาะสมตามสภาพ ไม่ใช่ช่วยเหลือจำนวนเงินเท่ากันหมด คือคนที่ยากจน เดือดร้อนจริงๆ ก็ได้เท่ากับคนที่มีฐานะปานกลาง” นายสีบาลกล่าว

ขณะที่ นายดำรง ประกิ่ง อายุ 48 ปี อยู่บ้านเลขที่ 125/3 หมู่ 11 บ้านอูนยางคำ ต.นาหว้า ซึ่งเป็นผู้พิการแขนขาลีบมาแต่กำเนิด แถมยากจน อาศัยอยู่เพียงลำพัง เพราะญาติพี่น้องต้องดิ้นรนไปรับจ้างทำงานต่างจังหวัด ส่งเงินมาช่วยเหลือตามสภาพ อีกทั้งนายดำรงยังต้องอาศัยอยู่ในบ้านที่เก่าทรุดโทรม รถเข็นที่ใช้อยู่ทาง อบต.นำมาช่วยเหลือ ใช้งานมาหลายปีผุพังมากแล้ว แต่ก็ต้องทนใช้งานเพราะไม่มีหน่วยงานมาดูแล

นายดำรงเล่าว่า ทุกวันนี้ตนมีรายได้จากเบี้ยคนพิการเดือนละ 800 บาท เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมาสอบถามญาติ พบว่ามีเจ้าหน้าที่นำเอกสารไปสำรวจ และศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.นครพนมนำเงินมาช่วยเหลือแค่ 1,000 บาท ส่วนได้ครบไม่ครบตามระเบียบนั้นตนไม่ทราบ ถ้าได้รับเงินช่วยเหลือมากกว่านี้ก็จะเป็นพระคุณอย่างสูง ตนอยากได้รถเข็นใหม่ ที่ใช้อยู่ตอนนี้มันเก่ามากแล้ว

สำหรับปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องของทางการจะจัดการแก้ไข สิ่งสำคัญคืออยากให้มาดูแล ช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนจริงๆ นอกจากตนจะทุกข์ยากแล้ว ก็เชื่อว่าจะมีชาวบ้านอีกหลายรายที่เดือดร้อนไม่ได้รับการช่วยเหลือ หากผู้ใจบุญต้องการช่วยเหลือ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 08-9223-5348


กำลังโหลดความคิดเห็น