หัวหน้า ปชป.แนะ กกต.ใช้เวลาชี้แจงแนวทางพรรคการเมืองให้คุ้มค่าและชัดเจน คาใจ คสช.-กกต. ไม่ตอบคำถามปมยืนยันสมาชิกพรรค ย้อนใช้นโยบาย 4.0 แต่ยังให้ถ่ายเอกสาร จี้ คสช.ต้องจำกัดภารกิจ รับห่วงใช้ ม.44
วันนี้ (25 มี.ค.) ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เตรียมจัดประชุมพรรคการเมืองเดิมเพื่อชี้แจงแนวทางการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองว่า สิ่งที่พรรคการเมืองต้องการทราบมากที่สุดขณะนี้ก็คือความชัดเจนเพื่อที่จะสามารถปฏิบัติได้ตามกฎหมาย หากในวันดังกล่าว กกต.สามารถตอบคำถามโดยอธิบายในสิ่งที่พรรคการเมืองต้องการได้อย่างชัดเจนในทุกเรื่องก็จะเป็นการใช้เวลาอย่างคุ้มค่ามากที่สุด
โดยเรื่องสำคัญที่ทุกพรรคการเมืองยังต้องการความชัดเจนก็คือในวันที่ 30 เมษายนนี้ เรื่องใดที่ทำได้และทำไม่ได้ และหากพรรคได้ดำเนินการมาแล้ว กกต.จะให้การรับรองหรือไม่ ถือเป็นหัวใจสำคัญ รวมถึงการยืนยันสมาชิกพรรคว่าสามารถใช้รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้หรือไม่
ดังนั้น หากจะใช้เวลาให้คุ้มค่า กกต.ควรตอบคำถามพรรคการเมืองให้ชัดเจนส่วนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ก็คงทราบดีถึงความต้องการของพรรคการเมืองอยู่แล้ว แต่จะตัดสินใจดำเนินการอย่างไรหรือรับฟังพรรคการเมืองแค่ไหนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ส่วนการเตรียมความพร้อมในการยืนยันสมาชิกพรรคของพรรคการเมืองเดิมนั้น ทางพรรคการเมืองก็พร้อมที่จะทำเต็มที่ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับความชัดเจนจาก คสช. และ กกต. แม้จะสอบถามไปแต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบกลับมา ในกรณีสามารถใช้เครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยได้มากน้อยแค่ไหน รวมถึงเรื่องการแสดงหลักฐาน เช่น หากพรรคการเมืองส่งหนังสือทางไปรษณีย์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับสมาชิก โดยมีการสอดซองเปล่าติดแสตมป์เพื่อให้สมาชิกพรรคส่งกลับมา ก็จะถือว่าเป็นเรื่องการจูงใจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจาก กกต.
นอกจากนี้ ยังรวมถึงการที่ต้องมีสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ที่ต้องมีการลงลายมือชื่อรับรองตัวเอง แปลกใจว่ารัฐบาลต้องการใช้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 แต่เหตุใดยังใช้วิธีเช่นนี้อยู่ หากจะทำในแนวทางดังกล่าวก็ต้องนำเครื่องพิมพ์หรือเครื่องถ่ายเอกสารมาด้วย เพราะหากไม่ทำเช่นนั้นก็ไม่สามารถรวบรวมเอกสารมาได้ ซึ่งถือเป็นภาระที่ไม่จำเป็น
สำหรับข้อเสนอของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งนั้นมองว่าเป็นเรื่องของผู้ที่ต้องการความชัดเจนเรื่องการเลือกตั้ง โดยทางกลุ่มก็ปฏิเสธการดำรงอยู่ของอำนาจพิเศษซึ่ง คสช. ก็ต้องรับฟังเพื่อประเมินความต้องการของสังคมในเรื่องการเลือกตั้งและทำให้เกิดความมั่นใจว่าจะลดการใช้อำนาจพิเศษที่จะเป็นอุปสรรคต่อการทำให้คนยอมรับกระบวนการทางการเมือง ขณะที่ประเด็นข้อกฎหมายก็ยังคงต้องถกเถียงกันเพราะฝ่ายที่เรียกร้องก็ยืนยันว่าทำได้ โดยฝ่ายที่อยู่ในอำนาจก็บอกว่ามีอำนาจตามกฎหมายที่จะดำรงอยู่
ส่วนสถานการณ์ขณะนี้ยังมีความจำเป็นที่ คสช.จะดำรงอยู่หรือไม่นั้นมองว่า คสช.ดำรงอยู่ตามรัฐธรรมนูญ ถ้าจะไม่ให้อยู่ก็ต้องให้ลาออกกันหมด แต่ คสช.ก็ต้องเข้าใจว่าที่ดำรงอยู่ขณะนี้คือภารกิจพิเศษและควรต้องจำกัดภารกิจ และเมื่อใดที่ความจำเป็นหมดไปก็ต้องดำเนินการตามที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม เป็นห่วงเรื่องการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์บ่อยครั้ง โดยเฉพาะการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเลือกตั้งและองค์กรอิสระที่จัดการเลือกตั้ง ซึ่งจะกระทบกับความเชื่อมั่นของประชาชน นอกจากนี้จะทำให้เกิดคำถามว่าหากมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้วไม่มีอำนาจตามมาตรา 44 เมื่อถึงเวลานั้นได้มีการปรับปรุงแก้ไขกลไกตามมาตรา 44 แล้วหรือไม่