xs
xsm
sm
md
lg

นิติราษฎร์ปัดไม่เกี่ยว “ปิยบุตร” ตั้งพรรค-แต่เชียร์ ยกพฤษภาทมิฬเตือนนายกฯ คนนอก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกกลุ่มนิติราษฎร์ (แฟ้มภาพ)
“วรเจตน์” เผย “นิติราษฎร์” ไม่เกี่ยว “ปิยบุตร” ตั้งพรรค รับเสียดายความรู้ทางวิชาการเจ้าตัว แต่ให้กำลังใจเดินหน้าทำงานการเมือง ยกเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 35 เป็นบทเรียนนายกรัฐมนตรีคนนอก ระบุไม่มั่นใจมีเลือกตั้ง ก.พ. 62

วันนี้ (19 มี.ค.) ที่ศาลทหารกรุงเทพ นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกกลุ่มนิติราษฎร์ กล่าวถึงกรณีที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ว่า ตนรู้สึกเสียดายความรู้ความสามารถทางวิชาการของนายปิยบุตร แต่ก็ให้กำลังใจและเข้าใจว่านายปิยบุตรต้องการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภูมิทัศน์ทางการเมืองของไทย ต้องรอดูว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้มากน้อยแค่ไหน แต่ภายใต้กติกาตามรัฐธรรมนูญปี 60 นั้นถือว่าไม่ง่าย และเชื่อว่าในไม่ช้าประชาชนก็จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ทั้งนี้ หลังจากที่นายปิยบุตรประกาศว่าจะไปตั้งพรรคอนาคตใหม่แล้ว ต่อไปนายปิยบุตรก็ต้องลาออกจากการเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ช่วงนี้ยังไม่ต้องลาออก เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เปิดโอกาสให้คนที่เป็นพนักงานของรัฐและข้าราชการสามารถเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ แต่ถ้าถึงคราวลงสมัครรับเลือกตั้งก็จะต้องลาออก ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างนายปิยบุตรกับกลุ่มนิติราษฎร์ ตนพูดชัดเจนว่านายปิยบุตรก็ไปทำงานทางการเมือง ส่วนคณะนิติราษฎร์ก็จะทำงานด้านวิชาการต่อไป เป็นคนละส่วนและไม่ได้เกี่ยวข้องกันแล้ว

เมื่อถามว่าทางกลุ่มนิติราษฎร์จะสนับสนุนแนวทางหรือนโยบายของพรรคอนาคตใหม่หรือไม่ นายวรเจตน์กล่าวว่า ตนยังไม่เห็นนโยบายพรรคใดๆ ทั้งสิ้น และกลุ่มนิติราษฎร์ไม่ได้ประกาศสนับสนุนนโยบายพรรคการเมืองอยู่แล้ว เพราะนิติราษฎร์เป็นนักกฎหมายที่เห็นความไม่ถูกต้องในการปรับใช้กฎหมายช่วงที่ผ่านมา พร้อมทั้งดำเนินการในแง่ของการวิพากษ์วิจารณ์และให้ความรู้กับประชาชนเป็นหลัก ส่วนนโยบายของพรรคอนาคตใหม่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกลุ่มนิติราษฎร์เพราะเขาต้องไปคุยกับคนในพรรคของเขาเอง

เมื่อถามถึงกรณีที่มีบางพรรคการเมืองสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก นายวรเจตน์ กล่าวว่า ตนไม่อยากให้ความเห็นในเรื่องนี้ เพราะยังไม่เกิดขึ้น แต่ประเทศไทยเคยผ่านเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 35 มาแล้ว เรามีบทเรียนมาแล้ว และควรนำบทเรียนนั้นมาใช้ แต่ก็ไม่ทราบว่าสุดท้ายแล้วจะมีพรรคการเมืองไหนเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกหรือไม่ เพราะจะต้องมีการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีก่อนเลือกตั้ง แต่ตอนนี้ทุกอย่างยังเป็นคำถามเชิงสมมติ ตนขอไม่ตอบเรื่องนี้ดีกว่า

ส่วนกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ยังคงมั่นใจว่าจะมีการเลือกตั้งภายใน ก.พ. 62 หรือไม่ นายวรเจตน์กล่าวว่า ตนไม่เคยมั่นใจอะไรอยู่แล้ว และทุกอย่างก็ยังไม่มีความชัดเจนแน่นอนใดๆทั้งสิ้น เรื่องนี้เป็นเรื่องการเมืองที่เราก็ต้องเฝ้าดูกันต่อไป ทุกอย่างขึ้นอยู่กับกลุ่มคนที่คุมอำนาจอยู่ตอนนี้มีความมุ่งหมายอะไร ดังนั้น การเลือกตั้งจะเลื่อนหรือไม่เลื่อน เรื่องอารมณ์ของคนในสังคมและกระแสของคนในสังคมก็เป็นเรื่องสำคัญ ตอนนี้แม้ว่ายังไม่เป็นประชาธิปไตย แต่คนในสังคมได้ผ่อนคลายและได้แสดงออกมากขึ้น แต่การเลือกตั้งจะเลื่อนไปแบบไม่มีกำหนดคงเป็นไปไม่ได้ สุดท้ายการเลือกตั้งก็ต้องเกิดขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น