หัวหน้าทีมคุยสันติสุข จชต. แจงแก้ไฟใต้ต้องใช้แนวทางสันติวิธี ยึดถือยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ชี้กลุ่มเห็นต่างใช้ความรุนแรงเพราะอยากคุย รับคุยยุติปัญหาไม่ได้ แค่เปลี่ยนความรุนแรงเป็นสันติวิธี ยันคณะพูดคุยไม่มีวาระของตัวเองได้แต่เป็นกระบอกเสียง ปชช. ย้ำปฏิเสธกลุ่มรุนแรงสันติสุขบังเกิด
วันนี้ (15 มี.ค.) พล.อ.อักษรา เกิดผล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้กล่าวถึงการแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องใช้แนวทางสันติวิธี โดยยึดถือยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” จึงจะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนว่า ตลอดห้วงระยะเวลาที่ผ่านมากลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐได้ใช้ความรุนแรงมาอย่างต่อเนื่องก็เพราะเขา “อยากจะคุย” จึงใช้ความรุนแรงเป็นเงื่อนไขยื่นข้อเสนอต่อรองรัฐบาล
“ยอมรับว่ามีกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยงานที่แอบติดต่อผ่านตัวแทนแหล่งข่าว นอกจากนี้ยังมีแนวร่วมในพื้นที่ให้การสนับสนุนช่วยกันสร้างความรุนแรงแบบป่วนเมือง ขยายความขัดแย้งไปทั่วจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าเราไปคุยกับคนพวกนี้ก็เท่ากับเรานั่นแหละสนับสนุนการใช้ความรุนแรง รัฐบาลปัจจุบันต้องการยุติความรุนแรงจึงไม่ให้ความชอบธรรมกับพวกใช้ความรุนแรงและประกาศใช้แนวทางสันติวิธีบีบบังคับ ให้ขบวนการผู้เห็นต่างจากรัฐเหลือเพียงช่องทางเดียวที่จะบรรลุความต้องการของเขา คือ แนวทางสันติวิธี และยุติการใช้ความรุนแรง โดยผู้ที่ได้รับผลประโยชน์คือประชาชนที่จะไม่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงอีกต่อไป ผมขอทำความเข้าใจว่าการพูดคุยนั้นไม่สามารถยุติความรุนแรงได้ เพียงแค่เปลี่ยนการต่อสู้ที่ใช้ความรุนแรงมาเป็นแนวทางสันติวิธี แต่การต่อสู้ยังคงดำรงอยู่ต่อไปและประชาชนเท่านั้นคือคำตอบของการต่อสู้ในแนวทางสันติวิธีว่าจะเลือกอนาคตอย่างไร”
พล.อ.อักษรากล่าวอีกว่า รัฐบาลยินดีคุยกับพวกที่ไม่ใช้ความรุนแรงซึ่งการเปลี่ยนกระบวนทัศน์นี้ทำให้รัฐบาลสามารถดึงกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐเกือบร้อยละ 90 เข้ามาพูดคุยและร่วมกันสร้างสันติสุข ด้วยการสร้าง Safety Zone ที่ทุกฝ่ายสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรีซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกับพื้นที่สาธารณะปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็นสำหรับทุกคน (Common Space) ที่ทางด้านวิชาการถามหา และนี่คือเสียงเรียกร้องจากประชาชนอย่างแท้จริง
“ผมขอเรียนอีกครั้งว่า คณะพูดคุยฯ ไม่เคยมีวาระของตัวเองได้แต่นำเสียงของประชาชนที่ต้องการความปลอดภัยและสันติสุขในการดำเนินชีวิตประจำวันไปบอกกับ ผู้เห็นต่างทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ให้ยุติการใช้ความรุนแรงและหันมาสร้างพื้นที่ปลอดภัยร่วมกัน สำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการแก้ปัญหาทั้ง 3 ส่วน ได้แก่ เจ้าหน้าที่รัฐ นักวิชาการ สื่อมวลชนและประชาชนยังมีผู้ที่ไม่เชื่อมั่นกระบวนการพูดคุย ไม่ไว้ใจคณะพูดคุยฯ ไม่ไว้ใจรัฐบาล ไม่ไว้ใจประเทศเพื่อนบ้านและในที่สุดก็ไม่ไว้ใจแม้กระทั่งกระบวนการก่อการร้าย กลุ่มคนเหล่านี้จึงเป็นปัญหาความรุนแรงส่วนหนึ่งของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทำให้ขยายความขัดแย้งไปเรื่อยๆ จนตกเป็นแนวร่วมมุมกลับของกลุ่มโจรก่อการร้ายโดยไม่รู้ตัว
เขาตั้งข้อสังเกตว่า ยังมีคอลัมนิสต์บางคนพยายามบอกสังคมให้เชื่อว่าพี่น้องมุสลิมยอมรับได้กับการสูญเสียเพื่ออุดมการณ์ คือ มีตายบ้าง บาดเจ็บบ้าง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของ BRN ซึ่งน่ากังวลว่าคอลัมนิสต์ดังกล่าวอาจตกเป็นแนวร่วมสนับสนุนโจรให้ใช้ความรุนแรงโดยไม่รู้ตัว และยังพยายามชี้นำสังคมให้เชื่อตามอีกด้วย อย่างไรก็ตาม โลกนี้จะอยู่ได้ด้วยความรักไม่ใช่ความเกลียดชัง ดังนั้น การแก้ไขปัญหาทุกอย่างในโลกจึงต้องมองโลกในแง่ดีปราศจากอคติจึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้แม้ต้องใช้เวลานานเพียงใดก็ตาม เช่นเดียวกับปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากเราสามารถกำหนดพื้นที่ปลอดภัยที่มีทุกฝ่ายเข้ามาร่วมกันกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัย โดยมีพี่น้องประชาชนในพื้นที่และนักวิชาการเข้ามาช่วยกันปฏิเสธกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงร่วมกันแล้ว สันติสุขก็จะค่อยๆ เกิดขึ้นได้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นรูปธรรมในที่สุด