xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กโบ้” เผยเคาะ “เซฟตี้โซน” ดับไฟใต้แล้ว รอแจ้งนายกฯ ก่อนเข้าเตรียมพื้นที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.อักษรา เกิดผล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ภาพจากแฟ้ม)
“พล.อ.อักษรา” เผยได้คุยกับ BRN ตัวจริงมีศักยภาพก่อเหตุ แต่ไม่ทำเพราะไม่ต้องการใช้ความรุนแรง กำลังหาทางออกกับรัฐบาล หนุนทำ Safety Zone กำหนดแล้วพื้นที่ใดบ้าง ต้องแจ้งนายกฯ ก่อน เตรียมพื้นที่ 3 - 4 เดือน หวังในอนาคตแปรเป็น “ศูนย์สันติภาพ” ต่อไป

วันนี้ (15 ม.ค.) พล.อ.อักษรา เกิดผล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า การพูดคุยฯ ไม่เคยหยุดชะงัก แต่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง แม้จะยังมีผู้เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยฯ ก็ตาม คณะพูดคุยฯ ได้ใช้เวลาในปี 2560 เกือบทั้งปี โดยให้ พล.อ ชินวัฒน์ แม้นเดช พล.ท.วิทยา อรุณเมธี และ พล.ต.สิทธิ ตระกูลวงศ์ ซึ่งเป็นผู้แทนคณะพูดคุยฯ เข้าไปสร้างความเข้าใจกับภาคประชาชนในทุกเวทีสาธารณะ และเวทีวิชาการ ส่วนตนได้เชิญนักวิชาการด้านสันติวิธี มารับทราบความคืบหน้าของกระบวนการพูดคุยฯ แล้ว ในห้วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่อาจารย์ทุกท่านมีความเข้าใจดีและให้การสนับสนุนการพูดคุยฯ แต่ยังมีสื่อบางส่วนนำบทวิเคราะห์เก่าๆ ของท่านมานำเสนอ เฉพาะข้อกังวล เกี่ยวกับการพูดคุยฯ ทำให้เหมือนว่าท่านไม่เห็นด้วย ซึ่งในข้อเท็จจริง ท่่านให้การสนับสนุนมาโดยตลอด เพราะท่านทราบดีว่าเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล และเป็นแนวทางเท่านั้น ที่ทุกประเทศทั่วโลกพยายามแสวงหา เพื่อยุติความขัดแย้งในภูมิภาคต่างๆ ของโลก

พล.อ.อักษรา เผยอีกว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้มีโอกาสพูดคุยกับหัวหน้ากองกำลัง BRN ที่เข้าร่วมการพูดคุยฯ จึงทราบว่าในกลุ่มขบวนการก็มีทั้งผู้เห็นด้วยและเห็นต่างฯ นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่คิดว่าต้องแสดงศักยภาพให้สังคมรู้ว่าเป็น “ตัวจริง” เขายืนยันว่า มีศักยภาพ แต่ที่ไม่ทำเพราะไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง และกำลังพูดคุยกับรัฐบาลเพื่อหาทางออกร่วมกัน พร้อมเห็นด้วยกับการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้มีความแตกต่างจากพื้นที่อื่นอย่างชัดเจน คือ นอกจากจะปลอดภัยจากการก่อการร้ายแล้ว ยังปลอดภัยจากปัญหาภัยแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ยาเสพติด เป็นต้น โดยมีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นสักขีพยาน เมื่อเริ่มดำเนินการแล้ว

สำหรับในเรื่องพื้นที่ปลอดภัย หรือ safety zone นั้น หัวหน้าคณะพูดคุยฯ ระบุว่าปัจจุบันทั้ง Party A และ Party B รวมทั้งผู้อำนวยความสะดวกได้รับทราบร่วมกันแล้วว่าเป็นพื้นที่ใด แต่ต้องนำเรียนให้นายกรัฐมนตรีรับทราบก่อน หลังจากนั้น จึงอยู่ในขั้นตอนของการเตรียมพื้นที่ ซึ่งจะใช้เวลา 3 - 4 เดือน เพื่อดำเนินการตามข้อกังวลของกลุ่มผู้เห็นต่างฯ ทั้งในเรื่องมาตรการรักษาความปลอดภัยพื้นที่ มาตรการรักษาความปลอดภัยบุคคล และความพร้อมของผู้ที่จะเข้ามาร่วมดำเนินการภายใต้ ศูนย์ประสานงาน หรือ Safe House นั่นเอง

เมื่อทุกฝ่ายมีความพร้อม ผู้อำนวยความสะดวกจะร่วมเป็นสักขีพยานในการเปิดศูนย์ประสานงาน (Safe House) และประกาศให้สังคมได้รับทราบว่าเป็นพื้นที่อำเภอใด เพื่อให้ประชาชนและนักวิชาการทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่นั้นต่อไป โดยในอนาคตศูนย์ประสานงานแห่งนี้ก็จะแปรสภาพเป็น “ศูนย์สันติภาพ” เพื่อให้สามารถดูแลความปลอดภัยในทุกพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง


กำลังโหลดความคิดเห็น