xs
xsm
sm
md
lg

จับกลุ่มมาราปาตานี “เปลื้องผ้า” ได้ด้วยการให้เวลากระบวนพูดคุยสันติสุข / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์  :  จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก 
--------------------------------------------------------------------------------
 
 
สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับการ “พูดคุยสันติภาพ” ระหว่าง พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายไทย กับ มะสุกรี ฮารี หัวหน้าคณะพูดคุยในนามกลุ่มมาราปาตานีแต่อย่างใด
 
แต่เป็นเพราะเกิด “อุทกภัย” ที่เป็นภัยพิบัติอย่างร้ายแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งรัฐกลันตัน และรัฐตรังกานู ในประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็น 2 รัฐที่เป็นแหล่ง “ซ่องสุม” ของ “แนวร่วม” ขบวนการแบ่งแยกดินแดนภายใต้ปีก “บีอาร์เอ็น”
 
วันนี้ บีอาร์เอ็นจึงหยุดการก่อเหตุแบบ “ชั่วคราว” เพราะนอกจากความไม่สะดวกในการเคลื่อนไหวเพื่อก่อการร้ายแล้ว บีอาร์เอ็นยังต้องปล่อยให้กำลังพลของกองทัพภาคที่ 4 และหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐช่วยเหลือประชาชนผู้เดือดร้อนอย่างเต็มที่ เพราะ “มวลชน” ของบีอาร์เอ็นก็ได้รับความเดือดร้อนจากภัยน้ำท่วมเช่นเดียวกัน
 
ถ้าบีอาร์เอ็นยังดันทุรังก่อเหตุร้ายในห้วงเวลาที่ประชาชนเดือดร้อน นั่นจะเป็นการทำให้เสียแนวร่วม และมวลชน ซึ่งเป็นสิ่งที่บีอาร์เอ็นต้องหลีกเลี่ยงแน่นอน
 
สิ่งที่น่าสนใจในขณะนี้คือ เรื่อง “การพูดคุยสันติสุข” ที่เป็นการพูดคุยครั้งล่าสุดระหว่าง พล.อ.อักษรา เกิดผล และคณะ กับ มะสุกรี ฮารี และคณะ ณ รัฐมะลากา ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา โดยประเด็นที่ทุกภาคส่วนทั้งในพื้นที่ และนอกพื้นที่ให้ความสนใจคือ การกำหนด “พื้นที่ปลอดภัย” หรือ “เซฟตี้โซน” ระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย
 
และที่น่าสังเกตสำหรับการพูดคุยของทั้ง 2 ฝ่ายในครั้งนี้ คือ ก่อนที่จะมีการพูดคุย กลุ่มมาราปาตานีมีการประชุมส่วนย่อยเพื่อการกำหนด “บทบาท” และ “ท่าที” ต่อกระบวนการพูดคุยสันติสุข และหลังการพูดคุยทั้ง 2 ฝ่ายต่างให้สัมภาษณ์ว่า การพูดคุยรอบนี้ส่งสัญญาณที่ดีต่อ “กระบวนการสันติสุข” ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยที่ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นด้วยในเรื่องการร่วมมือกันเพื่อการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยใน 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลาคือ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย
 
นั่นคือความคืบหน้าของกระบวนการพูดคุยสันติสุข ระหว่างตัวแทนของรัฐบาลไทย และตัวแทน 4 กลุ่มของขบวนการแบ่งแยกดินแดน แม้ว่าการพูดคุย และความคืบหน้าที่มีการ “สื่อ” ออกมาสู่ “พื้นที่สาธารณะ” จะยังเป็นคำถามจากเจ้าหน้าที่ใน กร.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และฝ่ายอื่นๆ ในพื้นที่ว่า การพูดคุยกับกลุ่มมาราปาตานีจะได้ผลอย่างไร
 
ในเมื่อบีอาร์เอ็นที่เป็นขบวนการที่ “บงการ” ให้มีการก่อการร้ายเพื่อแบ่งแยกดินแดน และมองว่ากลุ่มมาราปาตานีนั้นเป็นการรวมตัวของขบวนการที่ “ไม่มีกองกำลังติดอาวุธ” และ “ไม่มีอำนาจสั่งการ” การไปกำหนดพื้นที่ปลอดภัยกับกลุ่มมาราปาตานี จึงถูกมองว่าความคาดหวังที่จะเห็นเซฟตี้โซนนั้น ช่างเลือนรางอย่างยิ่ง
 
นั่นอาจจะเป็นมุมมองของกลุ่มเจ้าหน้าที่ภายนอกที่มีความรู้ และเข้าใจในขบวนการและโครงสร้างของบีอาร์เอ็น และ “รู้ลึกได้” ถึงแผนการใหม่ และโครงสร้างใหม่ของบีอาร์เอ็น แต่ “ไม่ได้สัมผัส” กับบรรยากาศ และผู้คนในกลุ่มมาราปาตี หรือในโต๊ะประชุม และรอบๆ ห้องประชุม
 
เพราะหากถาม พล.อ.อักษรา ถึงความมั่นใจในการพูดคุยกับกลุ่มมาราปาตานีว่า มีความมั่นใจในการพูดคุยว่าถูกตัวถูกฝาหรือไม่ คำตอบคือ “มั่นใจ” เพราะในกลุ่มมาราปาตานีมีคนของบีอาร์เอ็นอยู่ด้วย ทั้งที่นั่งโต๊ะประชุม และนอกห้องประชุม แม้ว่าอาจะไม่ใช้บีอาร์เอ็นใน “ปีกทหาร” ก็ตาม
 
ดังนั้น หากมีใครบ่งบอกว่าเป็นการพูดคุยที่ผิดฝา ผิดตัว พล.อ.อักษรา จะมีอาการ “ลมออกหู” ทุกครั้ง
 
ถ้ามองกลุ่มมาราปาตานีด้วยสายตาที่ไม่ “พร่ามัว” ก็จะพบความจริงบางส่วนว่า มะสุกรี คือผลิตผลของ “สะแปอิง บาซอ” อดีตครูใหญ่เจ้าของโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ซึ่งขณะนี้สะแปอิงดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ของขบวนการบีอาร์เอ็น และในอดีตมะสุกรี ก็มีบทบาทในฐานะปีกทหารของบีอาร์เอ็นคนหนึ่ง ที่สามารถ “ต่อสาย” เพื่อการพูดคุยกับเลขาธิการใหญ่ของบีอาร์เอ็นได้ และนอกจากมะสุกรี แล้ว ในกระบวนการพูดคุยสันติสุขยังมีบีอาร์เอ็นอีกหลายคนที่มีบทบาททางการเมือง
 
ซึ่งในการต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนนั้น แม้ว่า “ปีกการทหาร” กับ “ปีกการเมือง” จะมีการแยกจากกันอย่างชัดเจนในการปฏิบัติงาน แต่ทั้งสองปีกก็มีความร่วมมือกันในยุทธศาสตร์ เพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จ ดังนั้น ทั้งสองปีกจึงต้องพูดคุยกันได้ เพื่อออกความเห็น และตัดสินใจร่วมกันในเรื่องยุทธศาสตร์ที่สำคัญๆ
 
มองอีกแง่หนึ่งการที่ พล.อ.อักษรา ให้กลุ่มมาราปาตานีกำหนดพื้นที่ปลอดภัย นั่นคือ บทพิสูจน์ครั้งสำคัญของการพูดคุยในครั้งนี้ เพราะสุดท้ายแล้วหากมีการร่วมกันในการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยแล้วไม่สามารถทำให้เกิดความปลอดภัยได้จริง ก็เท่ากับว่ากลุ่มมาราปาตานีเป็นกลุ่มก้อนของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ “บ่มิไก๊” หรือ “ไร้น้ำยา” ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของกลุ่มมาราปาตานีเองในการ “สื่อสารกับสังคม” ว่าแท้ที่จริงสถานะของกลุ่มมาราปาตานีคืออะไรกันแน่
 
แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้มีความปลอดภัย กล่าวคือ ไม่มีเหตุเกิดขึ้น กลับมีความสันติสุขในพื้นที่จริง ก็แสดงว่ากลุ่มมาราปาตานีเป็นของจริง การที่จะเดินหน้าพูดคุยแบบจึงเป็น “ขั้นบันได” ก็จะได้เดินหน้าไปได้ ซึ่งย่อมเป็นผลดีมากกว่าผลเสียต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ
 
ที่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งคือ การดึง “ภาคประชาสังคม” เข้าไปร่วมตรวจสอบ หรือเป็นส่วนหนึ่งในการตรวจสอบพื้นที่ปลอดภัย เพื่อที่จะให้ภาคประชาสังคมเห็นถึงความจริงใจของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งจะได้เห็น “หน้ากาก” ของภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า อันไหนเป็น “ของจริง” ที่มีความจริงใจ และยืนอยู่กับประเทศไทย อันไหนที่ “สวมหน้ากาก” ของภาคประชาสังคม แต่เป็น “ปีกงานมวลชน” ของบีอาร์เอ็นเพราะพฤติการณ์ในการเรียกร้องจะเป็นตัวที่บ่งบอกได้อย่างชัดเจน
 
การหยิบเอาเพียงเรื่องพื้นที่ปลอดภัยมาเป็นการ “นำร่อง” เพื่อทดสอบศักยภาพของกลุ่มมาราปาตานี จึงเป็นการเหมาะสมตามสถานการณ์ของการพูดคุยสันติภาพ เพราะนอกจากเราไม่ได้สูญเสียอะไรเลย นอกจากแค่ “เสียเวลา” ซึ่งเราเสียมาแล้ว 13 ปี การจะเสียอีกเพื่อ “ทดลอง” และ “ทดสอบ” กลุ่มมาราปาตานีอีกสักปีสองปี นั่นก็ไม่ได้เสียหายตรงไหน
 
แถมวิธีการอย่างนี้คือ ยุทธวิธีในการ “แก้ผ้า” กลุ่มมาราปาตานีให้ทุกภาคส่วนเห็นกันอย่างกระจะกระจ่าง และเช่นเดียวกับการที่จะได้เห็นภาพที่แท้จริงของภาคประชาสังคมในพื้นที่ว่า สุดท้ายแล้วกลุ่มไหนบ้างที่มี “หัวใจ” เป็นไทย และกลุ่มไหนบ้างที่เป็น “มวลชน” แต่งตั้งของบีอาร์เอ็น
 
หนังเรื่องการพูดคุยสันติภาพจึงเป็นหนังยาวที่ต้องติดตามอย่างละเอียด เพราะก่อนการพูดคุยครั้งล่าสุด การเปิดตัวนักรบรับจ้างอย่าง “อาแว แฆและ” ซึ่งทิ้งที่มั่นใจ จ.นราธิวาสไป “ซุกตัว” ในประเทศมาเลเซีย และ “เจ๊ะกูแม กูเต๊ะ” อดีตหัวหน้าขบวนการรับจ้างก่อการร้าย ที่เพิ่งออกจากที่ควบคุมตัวของมาเลเซีย ก็น่าจะมีนัยที่แอบแฝงกับการขับเคลื่อนของการพูดคุยสันติภาพของทั้งสองฝ่ายในครั้งนี้
 
สรุปคือ ทั้งฝ่าย “เห็นด้วย” และ “เห็นต่าง” ในการพูดคุยสันติสุขกับกลุ่มมาราปาตานีครั้งนี้ ไม่มีใครผิด และไม่มีใครถูกทั้งหมด สิ่งที่ต้องทำคือการ “ให้เกียรติ” และ “ให้เวลา” แก่ พล.อ.อักษรา ในการ “พิสูจน์” ความจริงว่า สุดท้ายแล้วกลุ่มมาราปาตานีคือ “ดาบแท้” หรือเป็นแค่ “ดาบไม้” ที่มีไว้สำหรับใช้ในการ “ปาหี่” เท่านั้น
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น