“บุญส่ง” เห็นด้วยยื่นตีความกฎหมายลูก ดีกว่าปล่อยเกิดปัญหาภายหลังเสียเงินเลือกตั้งเปล่า เชื่อแค่ปรับแก้เล็กน้อยไม่กระทบโรดแมปเลือกตั้ง เตือน “ประยุทธ์” หากเป็นที่ปรึกษาพรรคการเมือง หวั่นกระทบการใช้อำนาจตอนเป็นรัฐบาลรักษาการ
วันนี้ (15 มี.ค.) นายบุญส่ง น้อยโสภณ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการที่ สนช.จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ว่าตนเห็นด้วยกับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. เพราะถ้าร่างกฎหมายผ่านไปจนถึงขั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วจะมีปัญหาตามมาก หรือการไปรอยื่นศาลรัฐธรรมนูญในช่วงนั้นแล้วศาลวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ ใครจะเป็นคนแก้ไข จะใช่ กรธ.ชุดนี้หรือไม่ หรือถ้าไปยื่นตีความกันตอนเลือกตั้งเสร็จแล้ว หรือใกล้เลือกตั้งเสร็จ แล้วศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาอีกทาง การเลือกตั้งก็อาจจะไม่ชอบ งบประมาณที่ใช้จัดการเลือกตั้งต้องเสียไป ดังนั้นเพื่อความชัดเจนจึงเห็นด้วยที่จะยื่นตีความเพื่อข้างหน้าจะได้ไม่เกิดปัญหา
“อย่างเรื่องที่นายมีชัยท้วงไว้ การใช้สิทธิของคนพิการและผู้สูงอายุ ก็น่าเป็นห่วง ที่ให้ผู้ติดตามสามารถลงคะแนนแทนได้ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจากประเด็นนี้ว่าทำให้การเลือกตั้งไม่ชอบ ก็จะทำให้การเลือกตั้งเสียไปทั้งระบบ ไม่ใช่เสียไปแค่บางส่วน แล้วงบประมาณที่ใช้ไปจะทำอย่างไร หากยื่นศาลแล้วศาลวินิจฉัยว่าขัดก็แก้ง่าย แก้เพียงมาตราเดียว หรืออย่างเรื่ององค์กรที่จะเข้ารับการสรรหาเป็น ส.ว. อันนี้ก็ไม่ยากอะไรแก้เพียงบทเฉพาะกาล ที่ให้ส่งได้สองอย่าง เพราะตัวบททั่วไปก็เป็นไปตามที่ กรธ.เสนออยู่แล้ว คิดว่ากระบวนการแก้ไขก็น่าจะเสร็จเร็ว ไม่กระทบต่อโรดแมปเลือกตั้ง เพราะตามโรดแมปเลือกตั้งจะต้องมีกระบวนการที่พรรคการเมืองต้องปฏิบัติตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองและคำสั่ง คสช.ที่ 53 มากอยู่แล้ว ซึ่งมันก็จะไปสอดคล้องกับระยะเวลาในการแก้ไขพอดี การเลือกตั้งจึงไม่น่าเลื่อนไป”
นายบุญส่งกล่าวถึงกระแสข่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นที่ปรึกษาพรรคประชารัฐ ว่าข่าวที่ออกมายังเป็นเพียงการคาดเดากัน แต่หากเป็นจริงตามรัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองก็ไม่ได้เขียนห้ามไว้ เพียงแต่ถ้าเป็นก็ต้องระมัดระวัง เพราะการเป็นกรรมการบริหารพรรคหรือที่ปรึกษาพรรค ตามกระบวนการของการจัดตั้งพรรคจะต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้นๆ ซึ่งกฎหมายก็ไม่ได้ห้ามว่าเป็นสมาชิกพรคการเมืองแล้วจะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีต่อไปไม่ได้ ยังคงเป็นต่อไปได้ แต่การทำงานใน ครม.บางอย่างเกี่ยวกับพรรคการเมืองก็ต้องระมัดระวัง เพราะตามกฎหมายใหม่กำหนดว่าก่อนการเลือกตั้ง 180 วัน ห้ามมีการหาเสียง ก็ต้องพิจารณาว่ากรอบเวลานั้นอยู่ตรงไหน จึงต้องดูเวลาให้พอดีว่าจะเลือกตั้งเมื่อใด และ กกต.ต้องเป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้งโดยมีอำนาจในการจัดการเลือกตั้งใน 150 วัน และเมื่อเป็นรัฐบาลรักษาการจะทำอะไรได้บ้าง รัฐธรรมนูญก็เขียนกำกับไว้แล้ว เช่น การโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหาระดับสูง การใช้งบฯ ที่จำเป็นและฉุกเฉินก็ต้องมีการมาขอ กกต.